บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565
ราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับสูง หลังตลาดยังคงกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 89-95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 91-97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (21 - 25 ก.พ. 65)
ราคาน้ำมันดิบยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง หลังรายงานจากสหรัฐฯ ว่ารัสเซียเริ่มส่งกองกำลังทหารเข้าใกล้บริเวณชายแดนยูเครนอีกครั้ง จึงส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เพื่อบรรเทาราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่การเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านเริ่มชัดเจนและเห็นข้อสรุปมากขึ้น หลังจากการประชุมล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เริ่มผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรบางส่วนต่ออิหร่าน ขณะที่การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดการณ์ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
-สถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงน่ากังวล แม้ว่ารัสเซียประกาศถอนกองกำลังทหารบางส่วนบริเวณชายแดนยูเครนกลับสู่ฐานทัพ และนายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้ร่วมหารือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย โดยรัสเซียพร้อมใช้แนวทางการทูตในการเจรจากับชาติยุโรปมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯและ NATO ได้รายงานว่ารัสเซียยังคงเสริมกำลังทหารกว่า 7,000 รายเข้าใกล้บริเวณชายแดนยูเครนอีกครั้ง และยังคงต้องจับตาดูว่าสถานการณ์ความตึงเครียดดังกล่าวจะกลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้งหรือไม่
-การเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านมีความคืบหน้าและได้ข้อสรุปมากขึ้น สำหรับการประชุมเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 65 ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรบางส่วนต่ออิหร่าน โดยอนุญาตให้อิหร่านร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น รัสเซีย จีน และยุโรปในโครงการนิวเคลียร์ หรือ Nuclear Program โดยอิหร่านสามารถใช้โรงงานนิวเคลียร์เป็นศูนย์วิจัยสำหรับการผลิตสารกัมมันตรังสีร่วมกับรัสเซียได้ ขณะที่อิหร่านได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดรวมถึงการที่อิหร่านสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันได้อีกครั้ง ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบโลกปรับเพิ่มขึ้น และลดความตึงตัวของอุปทานน้ำมันดิบลง
-การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ เมื่อวัน 25-26 ม.ค. 65 ที่ผ่านมา มีมติยกเลิกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินภายในเดือนมี.ค. 65 ขณะที่นาย James Bullard ประธาน FED สาขาเซนต์หลุยส์ คาดว่า FED อาจประเมินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ถึง 7 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งขึ้น เช่น ตลาดแรงงาน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค. 65 ที่เพิ่งประกาศล่าสุดปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 7.5% จากปีก่อนหน้า
-ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 11 ก.พ. 65 รายงานโดย Baker Hughes ปรับเพิ่มขึ้น 22 แท่น สู่ระดับ 635 แท่น ขณะที่ EIA รายงานคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำดิบของสหรัฐฯ ปี 2565 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 0.76 ล้านบาร์เรลต่อวันสู่ระดับ 11.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อบรรเทาราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก
-ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งสะท้อนตัวเลขอัตราเงินเฟ้อด้านราคาผู้ผลิตของจีนเดือน ม.ค. 65 ชะลอตัวลง 10.3% จากเดือนก่อนหน้าและต่ำกว่าที่คาดกาณ์ไว้ หลังจากที่จีนใช้มาตรการควบคุมราคาวัตถุดิบทำให้ราคาผู้ผลิตลดลง อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางจีน (PBOC) ยังคงใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินโดยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
-เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของสหรัฐฯ เดือนม.ค. 65 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ และดัชนี PMI ของยุโรปเดือนม.ค. 65 คาดการณ์ว่าอาจปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 58.7 อย่างไรก็ตาม ดัชนี PMI อยู่เหนือเส้น 50 สะท้อนถึงกิจกรรมมางเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่ง
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (14 – 18 ก.พ. 65)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 2.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 91.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 93.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 90.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังจากที่ตลาดยังคงกังวลและจับตาดูสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 11 ก.พ. 65 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 1.1 ล้านบาร์เรล สะท้อนถึงปริมาณน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบตึงตัวน้อยลง
ข่าวเด่น