ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 110-120 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 118-128 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล


แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (28 มี.ค. – 1 เม.ย. 65)


ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงเนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวอย่างต่อเนื่อง หลังท่อขนส่งน้ำมัน CPC ในคาซัคสถาน ซึ่งมีปริมาณการขนส่งราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ได้หยุดดำเนินการจากการพัดถล่มของพายุบริเวณแถบทะเลดำ ประกอบกับสถานการณ์ที่ยังไม่มีข้อยุติระหว่างรัสเซียและยูเครน แม้ว่าจะมีความพยายามในการเจรจาสันติภาพหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ยังราคาได้รับแรงกดดันจากข่าวการแพร่ระบาดของโควิดในจีน ซึ่งล่าสุดจีนประกาศล็อกดาวน์หลายเมือง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งสร้างความกังวลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

-การพัดถล่มของพายุในบริเวณทะเลดำทำให้ท่อส่งน้ำมันของบริษัท Caspian Pipeline Consortium หรือ CPC ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัสเซีย และคาซัคสถาน ประกาศหยุดดำเนินการ เนื่องจากเกิดความเสียหายอย่างหนักโดยเฉพาะท่าส่งออก 2 ท่า จาก 3 ท่าโดยท่อส่งน้ำมัน CPC เป็นท่อขนส่งน้ำมันราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน (1-2% ของกำลังการผลิตน้ำมันโลก) จากแหล่งผลิตใน

คาซัคสถาน และรัสเซีย ซึ่งส่งออกไปยัง Novorossiysk-2 บริเวณทะเลดำ อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์ท่อขนส่งได้กลับมาดำเนินการได้บางส่วน โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานรัสเซีย คาดว่าจะใช้เวลาซ่อมแซมท่อให้แล้วเสร็จถึง 2 เดือน และอาจจะทำให้การส่งออกน้ำมันดิบลดลงราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบตึงตัวมากขึ้น

-การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย และยูเครน ยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ส่งผลให้ผู้ซื้อน้ำมันในหลายประเทศยังคงหลีกเลี่ยงการซื้อน้ำมันจากรัสเซีย โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดอุปทานน้ำมันดิบราว 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันและน้ำมันสำเร็จรูปราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ของรัสเซียจะปรับลดลงในเดือน เม.ย. เป็นต้นไป ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงมากกว่าอุปสงค์ที่คาดว่าจะลดลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ไตรมาส 2 ปีนี้ ตลาดน้ำมันจะเผชิญกับภาวะขาดดุลราว 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน

-หลังการประชุมระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ผู้นำสหภาพยุโรป และผู้นำ G7 ที่จัดขึ้นในเมือง Brussels ประเทศเบลเยี่ยมในวันที่ 24-25 มี.ค. ที่ผ่านมา มีข้อตกลงร่วมกันที่ลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย โดยสหภาพยุโรปตกลงจะซื้อก๊าซธรรมชาติ LNG จากสหรัฐฯเพิ่มขึ้น แต่ว่ายังไม่ได้สามารถหาข้อตกลงในการยุติการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียทั้งหมดได้

-ตลาดน้ำมันดิบยังได้แรงหนุนจากอุปทานที่ตึงตัว เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบและชาติพันธมิตร หรือกลุ่มโอเปกพลัส ยังคงประสบปัญหาในการเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ตามเป้า ขณะที่ตลาดคาดว่าการประชุมกลุ่มโอเปกพลัสในวันที่ 31 มี.ค. ทางกลุ่มยังคงเพิ่มกำลังการผลิตในเดือน พ.ค. ตามแผน ที่ระดับ 400,000 บาร์เรลต่อวัน โดยหลายฝ่ายคาดว่ากลุ่มโอเปกพลัสจะปฏิเสธการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามข้อเรียกร้อง ล่าสุดความร่วมมือในการลดกำลังการผลิต (OPEC+ Compliance) ในเดือน ก.พ. อยู่ที่ระดับ 136% เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. ที่ 129% ตามรายงานของรอยเตอร์

-บริษัทค้าน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่าง Trafigura คาดว่าราคาน้ำมันดิบอาจจะเพิ่มสูงถึง 150 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ เนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบที่ได้รับผลกระทบของรัสเซียจะเริ่มส่งผลและเห็นได้ชัดในเดือน เม.ย. เป็นต้นไป ซึ่งอาจจะทำให้ราคาน้ำมันดิบไปแตะระดับ 200 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

-สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ยังคงระบาดหนักในหลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชีย ล่าสุดจีนประกาศ

ล็อกดาวน์เมืองถังชาน (Tangshan) ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมเหล็กที่สำคัญ ทางตอนเหนือของจีน ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้ติดเชื้อจีนเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 5 พันคนต่อวัน ตามรายงานของ WHO ซึ่งการบังคับใช้มาตรการ

ล็อกดาวน์หรือจำกัดการเดินทางของจีน อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน

-ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา รวมถึงส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่จะยกระดับนโยบายการเงินเชิงรุกมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง

-เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/64 สหรัฐฯ โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/64 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตจีน (NBS PMI) เดือนมี.ค. 65 ซึ่งมีแนวโน้มปรับลดลง จากเดือนก่อนหน้า และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตสหรัฐฯ (ISM PMI) เดือนมี.ค. 65 ซึ่งมีแนวโน้มทรงตัว เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (21 - 25 มี.ค. 65)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 9.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 113.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 12.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 120.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 112.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากตลาดกังวลอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว เพราะสถานการณ์ที่ยังไม่มีข้อยุติระหว่างรัสเซียและยูเครน ประกอบกับการโจมตีโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวและโรงกลั่นน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย โดยกลุ่มกบฎฮูตี ในวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 มี.ค. 2565 เวลา : 13:50:35

08-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 8, 2024, 8:55 am