ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาดแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ 34.44 บาท/ดอลลาร์


ธนาคารกรุงไทย รายงานค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้ (29 เม.ย.2565) ที่ระดับ 34.44 บาท ต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.46 บาทต่อดอลลาร์


เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2022 พลิกกลับมาหดตัวถึง -1.4% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี แย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจอาจโตชะลอลงเหลือ +1.1% จากที่ขยายตัวกว่า +6.9% ในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อน ทั้งนี้ ปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปีนี้ คือ การขาดดุลการค้าที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึงแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนจากภาครัฐที่ลดลง อย่างไรก็ดี หากเฉลี่ยการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสก่อนหน้าและไตรมาสล่าสุด เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวกว่า +2.7% ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สะท้อนโมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ดี ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ยังคงประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาสหน้า แต่การพลิกกลับมาหดตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกนั้น อาจส่งผลให้เฟดไม่กล้าที่จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่สูงเกินไปหลายครั้ง อย่างที่ตลาดกำลังกังวลอยู่

แม้ว่า ข้อมูลการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะออกมาแย่กว่าคาด ทว่าผู้เล่นในตลาดการเงินโดยรวมกลับให้น้ำหนักกับรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงออกมาแข็งแกร่ง อาทิ ผลประกอบการของหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Meta (Facebook) รวมถึงผู้ผลิตชิพ อย่าง Qualcomm ส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มเทคฯ ต่างปรับตัวขึ้น หนุนให้ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้นมาถึง +3.06% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +2.47%

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป แม้ว่าปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังคงกดดันแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ทว่า รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ หุ้นกลุ่มพลังงาน กลุ่มยานยนต์ และกลุ่มการเงิน นอกจากหุ้นบรรดาหุ้นเทคฯ ยุโรป ก็รีบาวด์ขึ้นตามฝั่งสหรัฐฯ หนุนให้สุดท้ายดัชนี STOXX50 สามารถปรับตัวขึ้น +1.13%

ทางด้านตลาดบอนด์นั้น ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10ปี ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 2.86% ก่อนจะย่อตัวลงเล็กน้อยจากแรงซื้อของผู้เล่นบางส่วนที่เชื่อว่า เฟดอาจไม่สามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปได้มาก หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากขึ้น ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับมาสู่ระดับ 2.82% อีกครั้ง เรามองว่าบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะยังแกว่งตัว sideways จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะรับรู้ถึงแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดในการประชุมเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้

ในฝั่งตลาดค่าเงิน ผู้เล่นในตลาดเผชิญความผันผวนหนัก หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย โดยเฉพาะการคุมระดับบอนด์ยีลด์ 10ปี ญี่ปุ่น (Yield Curve Control) ส่งผลให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงต่อเนื่องจนทะลุระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ ความกังวลผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรป หากรัสเซียระงับการส่งพลังงานให้ยุโรป ได้กดดันให้สกุลเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์ (GBP) อ่อนค่าลง ซึ่งการอ่อนค่าลงหนักของบรรดาสกุลเงินหลักนั้น ได้หนุนให้ เงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 103.6 จุด ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 20 ปี อนึ่ง แม้การแข็งค่าของเงินดอลลาร์และแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดจะกดดันราคาทองคำ แต่ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความต้องการถือทองคำอยู่ หนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นกลับใกล้ระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง ซึ่งเราประเมินว่า โฟลว์ธุรกรรมทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวดังกล่าวก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าในช่วงนี้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป PCE ของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม ซึ่งคาดว่าจะพุ่งสูงขึ้นแตะระดับ 6.7% ตอกย้ำความจำเป็นที่เฟดจะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ เช่นเดียวกันกับในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานเงินเฟ้อของยูโรโซน โดยตลาดมองว่า ผลกระทบของสงครามที่หนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสุงขึ้น จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของยูโรโซน (CPI) ในเดือนเมษายน พุ่งขึ้นสู่ระดับ 7.5% ซึ่งแนวโน้มเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจะส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนมองว่า ธนาคากลางยุโรป (ECB) อาจสามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ได้อย่างน้อย 1-2 ครั้ง เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ

ส่วนในฝั่งเอเชีย นักวิเคราะห์มองว่า อานิสงส์ของการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโอมิครอน จะช่วยให้ ยอดค้าปลีกเวียดนามในเดือนเมษายน อาจโตกว่า +10%y/y ซึ่งจะช่วยหนุนการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจเวียดนาม และอาจช่วยพยุงบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามช่วงนี้ได้

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยผลประกอบการที่ดีกว่าคาดอาจพอช่วยพยุงบรรยากาศการลงทุน จนกว่าจะผู้เล่นในตลาดจะรับรู้ถึงแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดที่ชัดเจนขึ้นในการประชุมเฟดเดือนพฤษภาคม


สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดอาจช่วยลดแรงกดดันต่อเงินบาทได้บ้าง ทำให้เงินบาทอาจจะยังไม่อ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ไปไกล อย่างไรก็ตาม แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทยังคงอยู่ ทั้ง แนวโน้มเงินดอลลาร์ที่โดยรวมยังแข็งค่า ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีน โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผล รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ทำให้ เรามองว่า เงินบาทสามารถผันผวนและอ่อนค่าขึ้นไปทดสอบแนวต้านแถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ อนึ่ง ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังคงเดินหน้าเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยอยู่ในสัปดาห์นี้ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนให้เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญ นอกจากนี้ เราคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเข้ามาช่วยลดความผันผวนในตลาดค่าเงินต่อเนื่อง ซึ่งจะสะท้อนผ่านยอดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมสถานะ forward ที่อาจปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.30-34.45 บาท/ดอลลาร์
 

 
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 เม.ย. 2565 เวลา : 10:01:28

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:57 am