สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% สู่ระดับ 0.75% - 1.00% ซึ่งนับเป็น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2,000 ในการประชุมนโยบายการเงินของเฟดที่มีขึ้นเมื่อช่วงดึกเมื่อคืนที่ผ่านมา ตามเวลาในประเทศ
นอกจากนี้เฟดยังได้เปิดเผยแผน ปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิ.ย. ซึ่งสินทรัพย์ที่จะถูกปรับลดงบดุลนั้นประกอบด้วย พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ที่ในปัจจุบันมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 8.9 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเฟดจะเริ่มทำการปรับลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นระยะเวลา 3 เดือน ก่อนที่ปรับเพิ่มการลดขนาดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือนในเดือนต.ค.
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหรัฐฯได้หดตัว 1.4% ในไตรมาสที่ 1/2022 และอัตราเงินเฟ้อได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 8.5% ในเดือน มี.ค.ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี รวมถึงปัจจัยภายนอกอย่างการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีนและสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดย FOMC ได้ให้คำมั่นว่าจะใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาอยู่ที่ระดับเป้าหมายที่ 2% ในระยะยาวต่อไป
ข่าวเด่น