ธนาคารกรุงไทยรายงานค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 13 มิ.ย.2565 ที่ระดับ 34.82 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.77 บาทต่อดอลลาร์
สัปดาห์ที่ผ่านมา ความกังวลแนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงยังคงกดดันตลาดการเงินโดยรวม ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด หลังเงินเฟ้อ CPI ล่าสุดสหรัฐฯ ยังคงเร่งตัวสูงขึ้น เพิ่มโอกาสเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
ฝั่งสหรัฐฯ – เรามองว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเฟด หรือ FOMC เดือนมิถุนายน เฟดจะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 1.25%-1.50% พร้อมกันนี้ ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นจะทำให้ เฟดสามารถส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมครั้งถัดไป ซึ่งตลาดจะรอจับตาประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจใหม่ของเฟด รวมถึงคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟด หรือ Dot Plot ใหม่ เพื่อประเมินแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยล่าสุดในมุมมองของผู้เล่นในตลาดได้ประเมินว่า เฟดจะทยอยขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนกรกฎาคม และอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนกันยายน ก่อนจะกลับมาขึ้น 0.50% และ 0.25% ในการประชุมถัดมา ทำให้ Terminal Rate ของเฟดจะสูงถึง 3.75% ในไตรมาส 1 ของปีหน้า ในมุมมองของผู้เล่นในตลาดล่าสุด นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วง Press Conference เพื่อจับตาการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยเฉพาะโอกาสที่เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.50% เพื่อคุมเงินเฟ้อ และที่สำคัญ ตลาดอาจรอฟังการประเมินความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวหนัก จนเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) จากประธานเฟด หลังจากประเด็นดังกล่าวเริ่มเป็นที่กล่าวถึงในตลาดการเงินมากขึ้น และนอกเหนือจากถ้อยแถลงของประธานเฟด ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ Christopher Waller ว่าจะมีการส่งสัญญาณสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงของเฟดหรือไม่
ฝั่งยุโรป – ตลาดคาดว่า แนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจเยอรมนี อาจช่วยหนุนให้บรรดานักลงทุนและผู้เล่นในตลาดการเงินมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนี สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนมิถุนายน ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -26.8 จุด ดีขึ้นจาก -34.3 จุดในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจเยอรมนีจะยังคงเผชิญแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและกดดันการใช้จ่ายของผู้คนได้ เช่นเดียวกันกับในฝั่งอังกฤษ ผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจะกดดันการใช้จ่ายของผู้บริโภค ทำให้ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนพฤษภาคม หดตัวกว่า -0.6% จากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่จุดต่ำสุดเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤติที่ผ่านๆมา นอกจากนี้ ท่ามกลางแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง จะหนุนให้ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25% โดย BOE อาจประเมินว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังคงได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของรัฐบาล รวมถึงตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง ทำให้ BOE สามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ ทั้งนี้ ตลาดประเมินว่า BOE อาจสามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 2.00% ได้ในปีนี้
ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในเดือนพฤษภาคม หลังจากที่ทางการจีนสามารถทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ในช่วงปลายเดือน สะท้อนผ่านยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ที่จะหดตัวราว -1.0%y/y ส่วนยอดค้าปลีก (Retail Sales) หดตัว -7.1%y/y ซึ่งเป็นการหดตัวในอัตราที่น้อยลงจากเดือนเมษายนพอสมควร นอกจากนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ตลาดมองว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยดอกเบี้ยนโยบาย (MLF) ลง 0.10% สู่ระดับ 2.75% ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ตลาดมองว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ เพื่อประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดย BOJ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ -0.10% พร้อมทั้งคงเป้าหมายบอนด์ยีลด์ 10 ปี ที่ระดับ 0.00%+/-0.25% ซึ่งการเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่สวนทางกับธนาคารกลางหลักอย่างเฟดจะสร้างแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าให้กับเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ไปจนกว่า BOJ จะเริ่มส่งสัญญาณพร้อมปรับนโยบายการเงิน
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาทมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์เป็นหลัก โดยเงินบาทอาจอ่อนค่าทดสอบแนวต้านในโซน 34.80-35.00 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอได้บ้าง จากแรงขายทำกำไรทองคำ ขณะเดียวกันโซนแนวต้านดังกล่าวอาจมีแรงขายเงินดอลลาร์พอสมควรจากฝั่งผู้ส่งออก นอกจากนี้ เงินบาทจะยังไม่อ่อนค่าทะลุระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ หากตลาดไม่ได้กังวลการเริ่มใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้งในบางพื้นที่ของจีน จนหันมาเทขายสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia ทั้งหุ้นและบอนด์ อย่างรุนแรง
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เราประเมินว่า เงินดอลลาร์ยังคงมีแรงหนุนฝั่งแข็งค่า ตามแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง อย่างที่ตลาดได้คาดการณ์หรือ priced-in ไปบ้างแล้ว (ตลาดประเมินเฟดอาจมีการเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% ในการประชุมเดือนกันยายน และ Terminal Rate ก็อาจสูงถึง 3.75%) ก็อาจกดดันเงินดอลลาร์ให้ย่อตัวลงได้ในช่วงหลังรับรู้ผลการประชุมเฟดหรือหลังช่วง Press Conference ของประธานเฟด
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้งความเสี่ยงสงคราม ปัญหาการระบาดของโอมิครอนในจีน และความกังวลเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินเฟด เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.40-35.00 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.70-34.90 บาท/ดอลลาร์
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย
ข่าวเด่น