ธนาคารกรุงไทยรายงานค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (14 ก.ค.2565) ที่ระดับ 36.24 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.28 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิด ณ วันที่ 12 กรกฎาคม)
ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงของเฟดอีกครั้ง หลังอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน พุ่งขึ้นสู่ระดับ 9.1% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งการเร่งขึ้นของเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯ นั้น ก็มาในวันเดียวกันกับที่ ธนาคารกลางแคนาดา (BOC) เร่งขึ้นดอกเบี้ย 1.00% สู่ระดับ 2.50% มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ กอปรกับประธานเฟดสาขา Atlanta ก็เริ่มมองว่า การขึ้นดอกเบี้ย 1.00% อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดมองว่ามีโอกาสถึง 78% ที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง 1.00% บ้าง ในการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้ (โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยมาจาก CME FedWatch Tool) อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาดจะมองว่าเฟดอาจจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อคุมเงินเฟ้อ แต่ก็อาจแลกมาด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมยังอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและผู้เล่นส่วนใหญ่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง
โดยในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผู้เล่นยังคงกังวลแนวโน้มผลประกอบการของกลุ่มธนาคารที่อาจได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนัก กดดันให้หุ้นกลุ่มธนาคารต่างปรับตัวลดลง (Bank of America -1.7%, Wells Fargo -1.3%) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากแรงซื้อ Buy on Dip หุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Amazon +1.1% ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.45%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ปรับตัวลงต่อเนื่องกว่า -1.01% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปอาจเสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอย ท่ามกลางความเสี่ยงธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ในจังหวะที่ยุโรปก็อาจเผชิญวิกฤติพลังงาน ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงขายหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่อ่อนไหวต่อแนวโน้มเศรษฐกิจต่างปรับตัวลดลง อาทิ หุ้นกลุ่มยานยนต์ (Volkswagen -1.8%) หุ้นกลุ่มธนาคาร (UBS -3.0%) ส่วนกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยก็เผชิญแรงขายจากความกังวลทางการจีนอาจใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง (Dior -1.1%)
ทางด้านตลาดบอนด์ แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ย 1.00% ของเฟด หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงกว่าคาด ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 3.05% ก่อนที่จะย่อตัวลงสู่ระดับ 2.94% จากความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจหลักอาจเข้าสู่สภาวะถดถอยยังคงหนุนให้พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดจะเริ่มมองโอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงมากขึ้นจากเดิมมาก แต่เรามองว่า เฟดอาจรอประเมินสถานการณ์ผ่านรายงานเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะกลางในวันศุกร์นี้ (U of Michigan 5-year Inflation Expectations) ก่อน ทำให้ทิศทางของบอนด์ยีลด์อาจยังผันผวนได้ในช่วงนี้จนกว่าตลาดจะรับรู้ข้อมูลดังกล่าว
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ผันผวนหนักในช่วงก่อนและหลังรับรู้เงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯ โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 108.3 จุด โดยแรงกดดันเงินดอลลาร์ส่วนหนึ่งมาจากการขายทำกำไร เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนมองว่า ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ย 1.00% ได้จริงก็อาจสะท้อนว่า เฟดคงไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงได้ไปมากกว่านี้แล้ว (Peak of Hawkishness) อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจถดถอย อนึ่ง แม้เงินดอลลาร์จะแกว่งตัว sideways หรือย่อลงเล็กน้อย พร้อมการบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ย่อตัวลงบ้าง แต่แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดก็เป็นปัจจัยที่กดดันให้ ราคาทองคำยังแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,730 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดการเงินอาจยังคงเผชิญความผันผวนสูงท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอย หากเฟดเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงเพื่อคุมเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงาน เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะกลางในวันศุกร์นี้ก่อน เพื่อให้มั่นใจว่า เฟดจะมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยได้ 1.00% ในการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้ เนื่องจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งก็มาจากแนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะกลาง
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนและมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าได้ ท่ามกลางปัจจัยกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ รวมถึงความกังวลแนวโน้มทางการจีนอาจใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 ซึ่งเราประเมินว่า แนวรับของเงินบาทในระยะสั้น ยังอยู่ในช่วง 35.90-36.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวต้านสำคัญยังเป็นโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ (มีโอกาสอ่อนค่าทดสอบแนวต้าน หากทางการจีนใช้มาตรการ Lockdown จริง จนเกิดแรงเทขายสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia) อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า จุดกลับตัวของเงินดอลลาร์อาจเกิดขึ้นในช่วงการประชุมเฟดปลายเดือนนี้ หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง (รอลุ้นเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะกลางในวันศุกร์นี้ ว่าจะทรงตัวหรือย่อตัวลงหรือไม่) ทำให้ยังมีโอกาสที่เงินบาทจะเริ่มกลับตัวมาแข็งค่าได้
ทั้งนี้ เรามองว่า ความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินเฟดได้กลับมากดดันตลาดการเงินอีกครั้ง ทำให้ตลาดมีแนวโน้มผันผวนสูงในระยะนี้ ซึ่งเราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลยุทธ์ที่ใช้ Options ซึ่งสามารถเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพในช่วงตลาดผันผวนหนักได้
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.15-36.35 บาท/ดอลลาร์
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย
ข่าวเด่น