ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (22 ส.ค.65) อ่อนค่าลงที่ระดับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (22 ส.ค.65)ที่ระดับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.74 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดและรายงานการประชุม FOMC ล่าสุด ได้กดดันให้ตลาดกลับมากังวลแนวโน้มเฟดเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ตลาดจะรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟดจากถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานประชุม Jackson Hole พร้อมกับจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของบรรดาเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการในเดือนสิงหาคม

 
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานประชุมวิชาการประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Hole รัฐ Wyoming เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด รวมถึงมุมมองของประธานเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยหากประธานเฟดไม่ได้แสดงท่าทีกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมาก แต่ยังคงกังวลปัญหาเงินเฟ้อสูงและยังสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ก็อาจทำให้ตลาดกลับมามองว่าเฟดยังมีแนวโน้มเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยและอาจคงดอกเบี้ยในระดับสูงได้นาน ซึ่งอาจจะเป็นไปตาม Dot Plot เดือนมิถุนายน แต่ก็จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดรับรู้หรือ price-in ในปัจจุบัน ที่ตลาดมองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไม่เกิน 3.75% ก่อนที่จะทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในครึ่งหลังของปีหน้า ส่วนในด้านข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ ตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดย S&P Global (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนสิงหาคม (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ซึ่งการชะลอตัวลงเศรษฐกิจโลกและปัญหาต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูงอาจกดดันให้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตลดลงสู่ระดับ 51.9 จุด ส่วนดัชนี PMI ภาคการบริการอาจปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 50 จุด สอดคล้องกับการใช้จ่ายของผู้คนที่ฟื้นตัวดีขึ้น หลังราคาน้ำมันปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่การจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป PCE ที่เฟดติดตามก็อาจชะลอลงสู่ระดับ 6.4% ในเดือนกรกฎาคม ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าพลังงาน อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE อาจยังคงอยู่ในระดับ 4.7% ทำให้เฟดอาจประเมินว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูงและจำเป็นที่เฟดต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น

ฝั่งยุโรป – ตลาดคาดว่า เศรษฐกิจยุโรปยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่อง ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูงและนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการของยูโรโซนในเดือนสิงหาคมที่จะลดลงสู่ระดับ 49 จุด และ 50.5 จุด ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับฝั่งอังกฤษ ที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการจะลดลงต่อเนื่องแตะระดับ 51 จุด และ 51.9 จุด ตามลำดับ นอกจากนี้ ภาคธุรกิจของเยอรมนีก็อาจปรับลดความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจปัจจุบันและในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้า สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) เดือนสิงหาคมที่จะลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 86.8 จุด ซึ่งหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของยุโรปออกมาแย่กว่าคาดที่ตลาดคาดไปมาก อาจยิ่งทำให้ตลาดกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงหนักของเศรษฐกิจและเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอย กดดันให้เงินยูโรอ่อนค่าลงได้

ฝั่งเอเชีย – ตลาดมองว่า ภาพเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงมากกว่าคาดจนส่งผลให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLF 1 ปี ลง 0.10% สู่ระดับ 2.75% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา จะทำให้ในสัปดาห์นี้ PBOC อาจประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี LPR (Loan Prime Rate) ประเภท 1 ปี และ 5 ปี ลง 0.10% สู่ระดับ 3.60% และ 4.35% ตามลำดับ เพื่อช่วยประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี แนวโน้มเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูงจากปัญหาน้ำท่วมในเดือนสิงหาคมรวมถึงช่วงเทศกาลหยุดยาวของเกาหลีใต้อาจหนุนให้ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 2.50% ส่วนในฝั่งอินโดนีเซีย ตลาดคาดว่า แนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) จะหนุนให้ BI สามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.50% ได้ สำหรับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดมองว่า ภาคการผลิตและการบริการของญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลงต่อเนื่องจากผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งจะสะท้อนผ่าน ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการในเดือนสิงหาคมที่จะลดลงสู่ระดับ 51 จุด และ 50 จุด ตามลำดับ

ฝั่งไทย – ตลาดประเมินว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะบรรดาเศรษฐกิจหลักที่ทยอยสะท้อนผ่านดัชนี PMI ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องอาจกดดันให้ยอดการส่งออกไทยในเดือนกรกฎาคมโตราว +10%y/y ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีความเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าทดสอบแนวต้านใกล้ 35.90 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ส่วนนักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยหรืออาจรอจังหวะให้หุ้นไทยย่อตัวลงบ้าง ก่อนจะซื้อเพิ่ม ทำให้เงินบาทอาจขาดแรงหนุนฝั่งแข็งค่า ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอลงด้วยแรงขายเงินดอลลาร์จากผู้ส่งออก รวมถึงผู้เล่นบางส่วนที่ยังมองแนวโน้มเงินบาทแข็งค่า

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากตลาดเชื่อว่าเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อ นอกจากนี้ ความกังวลเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวหนักก็มีส่วนช่วยหนุนเงินดอลลาร์ผ่านแรงกดดันต่อเงินยูโร (EUR)

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.30-36.00 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.70-35.90 บาท/ดอลลาร์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ส.ค. 2565 เวลา : 09:36:27

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:16 am