ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (23 ส.ค.65) ที่ระดับ 36.14 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.08 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเฟดเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ (สะท้อนผ่านมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า เฟดมีโอกาส 55% ที่จะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนกันยายน สูงขึ้นจากที่เคยมองไว้ 39% ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า) ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุระดับ 3.00% อีกครั้ง กดดันให้ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่อ่อนไหวกับแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ย นำโดย Amazon -3.6%, Microsoft -2.9% ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -2.55% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปิดตลาด -2.14%
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงกว่า -0.96% สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอย จากวิกฤติพลังงานที่อาจเกิดขึ้น หากรัสเซียยุติการส่งแก๊สธรรมชาติให้กับยุโรป (ปัจจุบัน บริษัท Gazprom ของรัสเซียระบุว่าจะระงับการส่งออกแก๊สธรรมชาติเพียง 3 วัน เพื่อซ่อมบำรุงท่อส่งแก๊ส) รวมถึงแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) หลังเงินเฟ้อของทั้งยูโรโซนและอังกฤษยังอยู่ในระดับที่สูงมาก
ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่า แนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะช่วยหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 3.03% แต่เราคงมุมมองเดิมว่า บรรดาผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในการทยอยเพิ่มสถานะการลงทุน เพื่อเตรียมปรับพอร์ตการลงทุนรับมือกับแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในอนาคต ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี ประเทศอื่นๆ อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นกลับไปสู่จุดสูงสุดในช่วงกลางปี ที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับสูงถึง 3.50%
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวแข็งค่าขึ้นใกล้ระดับ 109 จุด ซึ่งเป็นการทำจุดสูงสุดใหม่ในปีนี้และเป็นการแข็งค่ามากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ โดยเงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง รวมถึงความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยที่ให้ยีลด์สูงท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงิน นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) สู่ระดับ 0.994 ดอลลาร์ต่อยูโร ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจยุโรป ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,748 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ว่าตลาดจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงก็ตาม ซึ่งเราคาดว่า การปรับตัวลดลงของราคาทองคำอาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้บ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงนี้
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการ (S&P Global Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนสิงหาคมของบรรดาเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐฯ ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก โดยในฝั่งสหรัฐฯ นั้น ตลาดมองว่า การชะลอตัวลงเศรษฐกิจโลกและปัญหาต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมาอาจกดดันให้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตลดลงสู่ระดับ 51.9 จุด ส่วนดัชนี PMI ภาคการบริการอาจปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 50 จุด สอดคล้องกับการใช้จ่ายของผู้คนที่ฟื้นตัวดีขึ้น หลังราคาน้ำมันปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา
ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดคาดว่า เศรษฐกิจยุโรปยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่อง ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูงและนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการของยูโรโซนในเดือนสิงหาคมที่จะลดลงสู่ระดับ 49 จุด และ 50.5 จุด ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับฝั่งอังกฤษ ที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการจะลดลงต่อเนื่องแตะระดับ 51 จุด และ 51.9 จุด ตามลำดับ
และในฝั่งญี่ปุ่น ตลาดมองว่า ภาคการผลิตและการบริการของญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลงต่อเนื่องจากผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งจะสะท้อนผ่าน ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการในเดือนสิงหาคมที่จะลดลงสู่ระดับ 51 จุด และ 50 จุด ตามลำดับ
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนในฝั่งอ่อนค่า ท่ามกลางแรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าจากทั้งเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มแข็งค่าจนกว่าตลาดจะรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานประชุม Jackson Hole รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวและแรงซื้อสกุลเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ของผู้ประกอบการบางส่วน หลังค่าเงินเยนญี่ปุ่นได้อ่อนค่าลงต่ำกว่าระดับ 26 บาทต่อ 100 เยน ขณะที่ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็อาจไม่ได้ไหลเข้าตลาดทุนไทยสุทธิเหมือนในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติอาจรอจังหวะการย่อตัวของตลาดหุ้นไทย ก่อนที่จะเพิ่มสถานะการถือครองอีกครั้ง เช่นเดียวกับฝั่งตลาดบอนด์ เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงใช้กลยุทธ์รอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นเพื่อทยอยซื้อ
ทั้งนี้ หลังจากที่เงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านที่เราเคยประเมินไว้ ทำให้แนวต้านถัดไปของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 36.20-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งสอดคล้องกับจากสัญญาณทางเทคนิคัลทั้งจาก RSI และ MACD ที่เราเคยได้ระบุว่าในช่วงระยะสั้น สัญญาณเชิงเทคนิคัลชี้ว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้ในระยะสั้น อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่ารุนแรงไปมาก หากไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงที่กดดันให้นักลงทุนต่างชาติเทขายสินทรัพย์ไทยรุนแรง อาทิ ทางการจีนใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดในเมืองสำคัญ เพื่อคุมสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 หรือปัญหาการเมืองในประเทศทวีความรุนแรงมากขึ้น
อนึ่งในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงและมีหลายปัจจัยที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะแนวโน้มนโยบายการเงินเฟด เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.05-36.25 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น