ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (31 ส.ค.65) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 36.46 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (31 ส.ค.65) ที่ระดับ 36.46 บาทต่อดอลลาร์
“อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.38 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board Consumer Confidence) รวมถึงยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) ต่างออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ กังวลแนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยและยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์เสี่ยงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงที่อ่อนไหวต่อการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย/บอนด์ยีลด์ อย่าง หุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (Tesla -2.5%, Apple -1.5%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลงแรงของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil -3.8%, Chevron -2.4%) หลังราคาน้ำมันดิบดิ่งลงหนักจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักชะลอตัวลง หากบรรดาธนาคารกลางต่างเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ รวมถึงความกังวลแนวโน้มการกลับมาผลิตและส่งออกน้ำมันจากฝั่งอิหร่านและเวเนซุเอลา ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -1.12% ส่วนดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปิดตลาด -1.10%

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องกว่า -0.67% ท่ามกลางแรงกดดันจากแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอยที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน (TotalEnergies -3.6%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มเทคฯ (ASML -2.6%) หลังอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเศรษฐกิจหลักในยุโรป อาทิ เยอรมนีและสเปนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยราว 0.75% ได้ในการประชุมเดือนกันยายน เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 108.75 จุด หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า เฟดอาจจำเป็นต้องเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในจังหวะที่ตลาดการเงินอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ถูกชะลอลงด้วยการกลับมาแข็งค่าขึ้นเหนือระดับ 1.00 ดอลลาร์ ของเงินยูโร (EUR) หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ECB อาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ทั้งนี้ แม้ตลาดจะปิดรับความเสี่ยง แต่แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ยังคงกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1,735 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งอาจเป็นโซนแนวรับที่ผู้เล่นบางส่วนจะเริ่มกลับมาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจจีนผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Official Manufacturing & Non-Manufacturing PMIs) ในเดือนสิงหาคม โดยตลาดประเมินว่า สารพัดปัญหาที่รุมเร้าการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน อาทิ ปัญหาหนี้ภาคอสังหาฯ วิกฤติภัยแล้ง รวมถึงการระบาดของ COVID-19 จะกดดันให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของจีนอาจหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนสิงหาคมที่จะลดลงสู่ระดับ 48.6 จุด ส่วนภาคการบริการก็อาจขยายตัวในอัตราชะลอลง หลังการระบาดของ COVID-19 นั้นเกิดขึ้นในหลายเมืองท่องเที่ยว โดยดัชนี PMI ภาคการบริการอาจลดลงสู่ระดับ 52.6 จุด

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของยูโรโซนอาจพุ่งขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 9.0% ในเดือนสิงหาคม และอาจทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกันยายนได้

และในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ซึ่งมักเคลื่อนไหวสอดคล้องกับ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ที่จะประกาศในวันศุกร์นี้ โดยหากยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 2 แสนรายไปมาก อาจยิ่งทำให้ตลาดมั่นใจการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ตามภาพตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง

นอกจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯและทิศทางนโยบายการเงินของเฟด

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบกว้างและยังมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าลงได้บ้าง หากเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจยังไม่อ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญแถว 36.50 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ไกล (อนึ่ง หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าว แนวต้านถัดไปจะอยู่ในช่วง 36.75 บาทต่อดอลลาร์) เนื่องจากบรรดาผู้ส่งออกอาจรอขายเงินดอลลาร์ในโซนแนวต้านดังกล่าว อีกทั้ง ภาวะปิดรับความเสี่ยงในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป ก็ไม่ได้กดดันให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยรุนแรง กลับกัน เรายังคงเห็นการทยอยซื้อสุทธิหุ้นไทยในจังหวะย่อตัวอยู่

อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในวันนี้ เนื่องจากมีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญหลายอย่าง เริ่มจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน ซึ่งหากออกมาแย่กว่าคาดไปมาก ก็อาจสร้างแรงกดดันต่อสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia หรือกดดันให้สกุลเงินฝั่ง EM Asia อ่อนค่า ตามเงินหยวนของจีนได้ ส่วนในช่วงตลาดรับรู้เงินเฟ้อของยูโรโซน เงินบาทก็อาจผันผวนตามเงินดอลลาร์ ที่อาจเผชิญแรงกดดันจากเงินยูโรได้ หากผู้เล่นในตลาดเริ่มมั่นใจแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ ECB

อนึ่งในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงและมีหลายปัจจัยที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะแนวโน้มนโยบายการเงินเฟด เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.30-36.55 บาท/ดอลลาร์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ส.ค. 2565 เวลา : 10:01:43

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:37 am