ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (1 ก.ย.65) อ่อนค่าลงที่ระดับ 36.65 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (1 ก.ย.65) ที่ระดับ 36.65 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.47 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะในฝั่งเศรษฐกิจหลัก อย่าง สหรัฐฯและยุโรปที่มีความเสี่ยงชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ ตามการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงแนวโน้มที่อิหร่านอาจกำลังมาผลิตและส่งออกน้ำมัน หากบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ใหม่ ได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงแรงต่อเนื่อง (น้ำมันดิบ WTI ราคาต่ำกว่า 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) กดดันให้หุ้นกลุ่มพลังงานต่างปรับตัวลงหนัก อาทิ Chevron -1.6%, Exxon Mobil -0.8% ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งนี้ การปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน รวมถึงหุ้นกลุ่มเทคฯ ซึ่งยังคงเผชิญแรงขายจากความกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย ได้ทำให้ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อ -0.78%

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลงกว่า -1.12% โดยผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าเทขายสินทรัพย์เสี่ยง ท่ามกลางแรงกดดันจากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังเงินเฟ้อยูโรโซนล่าสุดพุ่งขึ้นแตะระดับ 9.1% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งตลาดกังวลว่า การเร่งขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว รวมถึงความเสี่ยงวิกฤติพลังงานอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอยได้ในที่สุด

ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าภาพรวมตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทว่าแนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยและจะไม่รีบลดดอกเบี้ยในปีหน้าอย่างที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้ (ล่าสุดจาก CME FedWatch Tool ตลาดมองว่าเฟดมีโอกาสที่จะคงดอกเบี้ย ณ ระดับ 4.00% จนถึงช่วงกลางปีหน้า จากเดิมที่เคยมองว่าเฟดจะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี) ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 3.19% เรามองว่า ในระยะสั้น ประเด็นการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและแนวโน้มเฟดเร่งอัตราการลดงบดุล (Balance Sheet Reduction หรือ Quantitative Tightening) สู่ระดับ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ อาจหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง แต่ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลง จะหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะทยอยเข้าซื้อบอนด์ในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ปรับตัวขึ้นไปได้ไกล หรือ ทะลุจุดสูงสุดในปีนี้ที่ 3.50%

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 108.9 จุด กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า ECB อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวน ทั้งนี้ แม้ตลาดจะปิดรับความเสี่ยง แต่แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องหลุดแนวรับที่เราคาดการณ์ไว้ สู่ระดับ 1,718 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้มีผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวและโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) ในเดือนสิงหาคม โดยตลาดประเมินว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมสหรัฐฯ อาจขยายตัวในอัตราชะลอลง ชี้จากดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรม ที่อาจปรับตัวลงสู่ระดับ 52 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ตามการชะลอตัวลงเศรษฐกิจโลกและปัญหาต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปอาจมีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของเยอรมนีในเดือนกรกฎาคมที่อาจหดตัว -0.1% จากเดือนก่อนหน้า

และในฝั่งไทย ตลาดประเมินว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ได้แรงหนุนจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ดีกว่าคาด จะช่วยหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment) เดือนสิงหาคมปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 50 จุดได้ อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยอาจขยายตัวในอัตราชะลอลงในเดือนสิงหาคม ท่ามกลางภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตที่จะลดลงสู่ระดับ 52 จุด

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้ หลังจากที่ล่าสุด เงินบาทอ่อนค่าทะลุแนวต้านแถว 36.50 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ ทำให้มีความเสี่ยงที่เงินบาทอาจอ่อนค่าใกล้โซนแนวต้านใหม่ในช่วง 36.75 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงยังคงเป็นการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว (เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงเมื่อคืนนั้น ส่วนใหญ่มาจากแรงกดดันของธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และในช่วงนี้เงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาทองคำถึง 62%)

อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทยังพอจะได้รับแรงหนุนช่วยชะลอการอ่อนค่าได้ หากนักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยซื้อสุทธิหุ้นไทยในจังหวะย่อตัวอยู่ เนื่องจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป

อนึ่งในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงและมีหลายปัจจัยที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะแนวโน้มนโยบายการเงินเฟด เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50-36.75 บาท/ดอลลาร์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 ก.ย. 2565 เวลา : 10:00:12

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:54 am