ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (15 ก.ย.65) ที่ระดับ 36.67 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.61 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย โดยดัชนี S&P500 สามารถปิดตลาด +0.34% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้นราว +0.74% ตามแรงซื้อหุ้นในจังหวะย่อตัวของบรรดาผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะแรงซื้อหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (Tesla +3.6%, Amazon +1.4%) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ท่ามกลางความกังวลว่า เฟดอาจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่องเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ โดยล่าสุด จาก CME FedWatch Tool ตลาดยังคงมองว่า เฟดมีโอกาสราว 25% ที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง +1.00% ในการประชุมเดือนกันยายน และตลาดยังมองอีกว่าเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 4.50% ภายในสิ้นปีนี้
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องราว -0.86% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และแนวโน้มที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็อาจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อเช่นกัน อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ TotalEnergies +2.5%, Equinor +1.5% หลังราคาน้ำมันดิบทยอยปรับตัวขึ้น (ราคาน้ำมันดิบ WTI รีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 89 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) หลังสำนักงานพลังงานสากล IEA ประเมินว่า อาจมีความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทดแทนแก๊สธรรมชาติมากขึ้นในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงนี้
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 3.40% โดยผู้เล่นบางส่วนอาจรอจังหวะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวขึ้น เพื่อเข้าซื้อ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง กลับสู่จุดสูงสุดก่อนหน้าแถว 3.50% ได้ โดยส่วนหนึ่งอาจมาจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) แกว่งตัวใกล้ระดับ 109.66 จุด โดยแรงหนุนเงินดอลลาร์นั้นยังคงมาจากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์เผชิญแรงกดดันจากการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) สู่ระดับ 142.8 เยนต่อดอลลาร์ (จากระดับเกือบ 145 เยนต่อดอลลาร์ ในวันก่อนหน้า) หลังผู้เล่นในตลาดมองว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจเข้ามาแทรกแซงตลาดค่าเงิน อนึ่ง แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจทยอยเข้ามาซื้อทองคำในโซนแนวรับมากขึ้น จากมุมมองที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น ซึ่งแรงซื้อดังกล่าวอาจช่วยพยุงให้ราคาทองคำสามารถทรงตัวเหนือระดับ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนสิงหาคม โดยตลาดมองว่า ยอดค้าปลีกพื้นฐาน (Core Retail Sales) ซึ่งหักยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร อาจขยายตัวกว่า +0.8%m/m ในเดือนสิงหาคม สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นในเดือนสิงหาคม และยังสะท้อนว่าภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ได้แย่มากนัก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะยุโรป
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบเดิมต่อ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา โดยในช่วงนี้ ประเด็นสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตา คือ แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ซึ่งตลาดจะรอลุ้นว่าเฟดจะมีการปรับคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Dot Plot รวมถึงเฟดจะมีการปรับมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรบ้าง ทั้งนี้ เราประเมินว่า หากตลาดไม่ได้ปิดรับความเสี่ยงรุนแรง (ซึ่งอาจมาจากความกังวลปัญหาเศรษฐกิจจีนหรือภาพการ Lockdown เพิ่มเติมในจีน รวมถึงความกังวลวิกฤตพลังงานในยุโรป) เงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าต่อเนื่องไปมาก โดยแนวต้านของเงินบาทจะยังคงอยู่ในช่วง 36.75-36.80 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้ส่งออกจำนวนมากอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในระดับดังกล่าว นอกจากนี้ แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติก็ไม่ได้รุนแรงมากนัก ตามที่เราเคยคาดการณ์ไว้ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติบางส่วนก็ทยอยกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวไทยมากขึ้น หลังบอนด์ยีลด์มีการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เงินบาทอาจไม่ได้เผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากแนวโน้มฟันด์โฟลว์ไหลออกอย่างที่ตลาดเคยกังวลก่อนหน้า
อนึ่ง เราคงมองว่า โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะราคาย่อตัวอาจยังคงเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้ จนกว่าที่ราคาทองคำจะสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้โซนแนวต้าน 1,740-1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็จะเริ่มมีโฟลว์ขายทำกำไร ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยที่จะช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้เช่นกัน
ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.55-36.80 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น