ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ดาวโจนส์ปิดร่วง 500.10 จุด วิตกเงินเฟ้อ-เศรษฐกิจถดถอยกดดันตลาด


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันศุกร์ (30 ก.ย.) โดยถูกกดดันหลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก และทำให้นักลงทุนวิตกว่าเศรษฐกิจจะเผชิญกับภาวะถดถอย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 28,725.51 จุด ลดลง 500.10 จุด หรือ -1.71%
ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,585.62 จุด ลดลง 54.85 จุด หรือ -1.51%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,575.62 จุด ลดลง 161.89 จุด หรือ -1.51%
ดัชนีดาวโจนส์และดัชนี S&P500 ปิดตลาดที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2563 ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดตลาดที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 2563

ในเดือนก.ย. ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 8.8% ขณะที่ดัชนี S&P500 ร่วง 9.3% และดัชนี Nasdaq ร่วง 10.5% และในรอบไตรมาส 3 นั้น ดัชนีดาวโจนส์ ลดลง 6.7%, ดัชนี S&P500 ลดลง 5.3% และดัชนี Nasdaq ลดลง 4.1%

ตลาดหุ้นสหรัฐถูกกดดัน หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ (30 ก.ย.) ว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.9% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.7% จากระดับ 4.7% ในเดือนก.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐาน เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนส.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% หลังจากทรงตัวในเดือนก.ค.

ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ

นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากความวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังบริษัทจดทะเบียน อาทิ ไนกี้ และคาร์นิวัล ประกาศเตือนเกี่ยวกับผลกำไร ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเงินเฟ้อสูง โดยหุ้นไนกี้ และหุ้นคาร์นิวัลร่วงลง 12.8% และ 23.3% ตามลำดับ

หุ้น 10 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปรับตัวลง โดยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ปรับตัวขึ้น ขณะที่กลุ่มเทคโนโลยีร่วงลงมากที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยหุ้นแอปเปิล, ไมโครซอฟต์, และแอมะซอน ถ่วงตลาดลงมากที่สุด

บรรดานักลงทุนจะจับตาการเปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 3 ของบริษัทจดทะเบียนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่ามีแนวโน้มลดลง

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ต.ค. 2565 เวลา : 11:57:57

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:30 am