ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (19 ต.ค.65) ที่ระดับ 38.09 บาทต่อดอลลาร์
“แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 38.12 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในบรรยากาศเปิดรับ (Risk-On) ความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางรายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาดของบรรดาบริษัทจดทะเบียน อาทิ Goldman Sachs, Lockheed Martin นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงกลับเข้ามาซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ และ หุ้นสไตล์ Growth อยู่บ้าง หลังจากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.00% ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +1.14% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ก็ปิดตลาดราว +0.90%
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป เดินหน้าปรับตัวขึ้น +0.34% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนโดยรวมที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงความปั่นป่วนของตลาดบอนด์ที่ลดลง หลังรัฐบาลอังกฤษตัดสินใจยกเลิกแผนการปรับลดภาษี อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปยังมีโอกาสถูกจำกัดโดย ความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งต้องจับตาว่า ผู้เล่นในตลาดจะใช้จังหวะการรีบาวด์ของตลาดหุ้นยุโรปในการทยอยลดสถานะการถือครองหรือไม่
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 111.95 จุด หลังผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงและเลือกที่จะทยอยลดการถือครองเงินดอลลาร์ลงบ้าง อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินดอลลาร์จะเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงบ้าง แต่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ยังทรงตัวใกล้ระดับ 4.00% ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดและแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ก็ยังคงเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 1,662 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวต้านระยะสั้น และย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับแถว 1,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ในเชิงเทคนิคัล ราคาทองคำยังไม่สูญเสียโมเมนตัมขาขึ้นไปโดยสิ้นเชิง ทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจยังคงเลือกที่จะเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้บ้าง
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานสภาวะเศรษฐกิจโดยเฟดสาขาต่างๆ หรือ Fed Beige Book (เฟดเปิดเผยรายงานในช่วงเวลา 01.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ ตามเวลาในประเทศไทย) ที่อาจชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเริ่มชะลอลงหรือทรงตัว ซึ่งจะสะท้อนโมเมนตัมเศรษฐกิจที่แย่ลงชัดเจนนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 อย่างไรก็ดี ตลาดมองว่า ภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจะยังไม่สามารถเปลี่ยนใจบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในการประชุมที่เหลือของปีนี้ได้ หลังจากข้อมูลเงินเฟ้อและเงินเฟ้อคาดการณ์ล่าสุดนั้นออกมาสูงกว่าคาด ทำให้ตลาดมองว่าเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75% ในการประชุมอีกสองครั้งที่เหลือในปีนี้
นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งอาจย้ำมุมมองการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดตามที่ตลาดคาดการณ์ได้ ส่วนรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนยังคงอยู่ในความสนใจของตลาดและเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อบรรยากาศการลงทุนในช่วงนี้
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แม้ว่าภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดอาจช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ (และช่วยชะลอแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท) แต่ทว่า เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว แรงซื้อสกุลเงินต่างประเทศ อาทิ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จากฝั่งผู้ประกอบการ รวมถึงฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในฝั่งตลาดบอนด์ที่ยังไหลออกสุทธิ (นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิบอนด์ระยะยาวไปแล้วกว่า 5.8 พันล้านบาท ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา) ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจมีอยู่อย่างจำกัดในระยะสั้นนี้ โดยเงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 37.80 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ จนกว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยอย่างชัดเจน อาทิ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง หรือ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.90-38.15 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น