ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (21 ต.ค.65) ที่ระดับ 38.23 บาทต่อดอลลาร์
“อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 38.12 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทยบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) โดยดัชนี S&P500 เคลื่อนไหวผันผวนก่อนที่จะปิดตลาด -0.80% ท่ามกลางแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง จากความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังจากที่ล่าสุด รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ลดลงสู่ระดับ 214,000 ราย ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อีกทั้ง บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดยังคงออกมาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งภาพดังกล่าวทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับสูงกว่า 5.25% (จาก CME FedWatch Tool) และหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.23% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่ได้ปรับตัวลดลงรุนแรงมากเหมือนในช่วงก่อนหน้า
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป สามารถปรับตัวขึ้น +0.26% จากอานิสงส์ของรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในฝั่งยุโรปส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ASML ซึ่งส่งผลให้ ASML ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +3.6% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรป โดยเฉพาะตลาดหุ้นอังกฤษยังได้แรงหนุนจากความกังวลการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลที่คลี่คลายลง หลังจากนายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ของอังกฤษได้ประกาศลาออก ทำให้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอังกฤษที่ส่งผลให้ตลาดการเงินยุโรปปั่นป่วนหนักในช่วงที่ผ่านมาจะยุติลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ท่ามกลางแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตารายงานผลประกอบการ รวมถึง การเลือกผู้นำอังกฤษคนใหม่ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า
ทางด้านตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดอาจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนแตะระดับจุดสูงสุด หรือ Terminal Rate ไม่น้อยกว่า 5.25% ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง แตะระดับ 4.23% ซึ่งสูงกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.00% ในช่วงนี้ อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวนั้น เป็นไปตาม มุมมองของตลาดต่อระดับ Terminal Rate ของเฟด และมองว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักจนอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย จะยังคงสนับสนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในช่วงแรก ก่อนที่จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง หลังตลาดยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ทำให้ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่น กว้างมากขึ้น กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงทะลุระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจเริ่มเข้ามาแทรกแซงค่าเงิน เพื่อชะลอการอ่อนค่าของเงินเยนได้ นอกจากนี้ แม้ว่าตลาดการเงินโดยรวมจะยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง แต่การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ไม่สามารถปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และย่อตัวลงต่อเนื่องกลับสู่ระดับ 1,630 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งการปรับตัวลงของราคาทองคำ อาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจยังคงเลือกที่จะเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) โดยตลาดประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซนในเดือนตุลาคม อาจปรับตัวลดลงต่อเนื่องแตะระดับ -30 จุด ตามปัญหาเงินเฟ้อสูงและความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหนักจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่วนในฝั่งอังกฤษ ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จากภาวะเงินเฟ้อสูง รวมถึงแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะยังคงกดดันให้ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกันยายน หดตัวต่อเนื่อง -0.5% จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจยุโรปออกมาแย่กว่าคาดก็อาจกลับมากดดันให้ผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงหนักและอาจทำให้ตลาดการเงินยุโรปพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง รวมถึงกดดันให้สกุลเงินฝั่งยุโรปอ่อนค่าลงได้
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ตราบใดที่ตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง เงินบาทก็ยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลง ทดสอบโซนแนวต้านสำคัญก่อนหน้าที่ระดับ 38.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ โดยในช่วงนี้ แรงกดดันต่อเงินบาทยังคงมาจากแรงขายบอนด์ระยะยาวของไทยจากนักลงทุนต่างชาติ หลังจากที่ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ก็มีส่วนช่วยกดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่าเช่นกัน ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อเงินเยนที่ล่าสุดอ่อนค่าลงมาเข้าใกล้ระดับ 25.28 บาทต่อ 100 เยน อีกครั้ง
อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 38.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากระดับดังกล่าวอาจเห็นบรรดาผู้ส่งออกมาทยอยขายเงินดอลลาร์มากขึ้น ส่วนผู้เล่นในตลาดโดยเฉพาะผู้เล่นต่างชาติที่มีสถานะ short เงินบาทก็อาจทยอยขายทำกำไรสถานะ short เงินบาทในโซนดังกล่าวได้เช่นกัน อีกทั้งแรงขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มลดน้อยลง และเริ่มเห็นสัญญาณการกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยสุทธิ ซึ่งหากนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยต่อเนื่อง ก็จะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ในระยะนี้
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 38.15-38.45 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น