ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (28 ต.ค.65) ที่ระดับ 37.84 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq สหรัฐฯ ปรับตัวลงกว่า -1.63% เช่นเดียวกันกับดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงกว่า -0.61% ตามแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ ใหญ่ อาทิ Meta -25%, Alphabet -2.9% จากความผิดหวังในรายงานผลประกอบการและคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการล่าสุดของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ดังกล่าว ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการคลายกังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดของผู้เล่นในตลาด รวมถึงรายงานข้อมูล GDP ไตรมาสที่ 3 ซึ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังสามารถขยายตัวได้ +2.6% จากไตรมาสก่อนหน้า ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และช่วยคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักในปีนี้ หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1 และ ไตรมาสที่ 2
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวลงแรง ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นและปิดตลาด -0.03% กดดันโดยการเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่ง ECB ก็ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนกว่าจะสามารถคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรป ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน BP +3.4%, Equinor +3.3% ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่ารายงานข้อมูล GDP ในไตรมาสที่ 3 ของสหรัฐฯ จะชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวได้ดีกว่าคาด แต่ผู้เล่นในตลาดมองว่า ดัชนีราคาร (GDP Price Index) ในรายงาน GDP ดังกล่าว กลับชะลอลงสู่ระดับ 4.1% น้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ระดับ 5.3% ซึ่งอาจชี้ว่าเงินเฟ้ออาจมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องและช่วยสนับสนุนมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ปรับลดคาดการณ์การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนธันวาคม ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.94% อย่างไรก็ดี เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นได้อีกครั้ง หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย หรือ รายงานข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ ไม่ได้สะท้อนภาพการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้ออย่างที่ตลาดคาดหวัง ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว เพื่อเตรียมพอร์ตการลงทุนให้พร้อมรับมือกับความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนักในปีหน้าได้
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) สามารถพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 110.6 จุด อีกครั้ง หนุนโดยรายงานข้อมูล GDP สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ในปีนี้ลง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินยูโร (EUR) หลังจากที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงการเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยและคงย้ำจุดยืนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามข้อมูลเศรษฐกิจในอนาคต (Data Dependent) ซึ่งภาพดังกล่าวได้กดดันให้เงินยูโรทยอยอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.997 ดอลลาร์ต่อยูโร จากระดับสูงกว่า 1.00 ดอลลาร์ต่อยูโร ในช่วงก่อนการประชุม ECB ทั้งนี้ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะกลับมาแข็งค่าขึ้น แต่การปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงสามารถทรงตัวเหนือระดับ 1,666 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งหากราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซนแนวต้านแถว 1,670-1,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจมีแรงขายทำกำไรทองคำกลับเข้ามา ซึ่งจะช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยเราประเมินว่า BOJ จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.10% และเดินหน้าการทำ QE ด้วยการตรึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี ญี่ปุ่นให้ไม่เกินระดับ 0.25% ไปมาก ทำให้ในระยะสั้น เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ยังมีโอกาสอ่อนค่าลงต่อได้ จนกว่าเงินดอลลาร์จะกลับมาอ่อนค่าลงอย่างชัดเจนจากการส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือ BOJ จะเริ่มส่งสัญญาณปรับนโยบายการเงินจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจญี่ปุ่นดีขึ้นชัดเจนหลังการเดินหน้าเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ เรามองว่า หากเงินเยนกลับไปอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากผลของนโยบายการเงินที่แตกต่างกันระหว่าง BOJ กับเฟด ก็มีโอกาสที่จะเห็นการเข้ามาแทรกแซงในตลาดค่าเงิน เพื่อชะลอการอ่อนค่าลงของเงินเยนและลดความผันผวนของค่าเงินเยนจากทางการญี่ปุ่นได้อีก
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาการงานข้อมูลเงินเฟ้อ PCE ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดจับตาอย่างใกล้ชิด โดยตลาดประเมินว่า เงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ในเดือนกันยายนจะเร่งขึ้นแตะระดับ 5.2% ทำให้เฟดยังไม่สามารถส่งสัญญาณชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ในระยะสั้น อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินสัญญาณการชะลอตัวลงของเงินเฟ้อผ่าน ข้อมูล ดัชนีต้นทุนการใช้จ่ายในการจ้างงาน Employment Cost Index (ECI) ในไตรมาสที่ 3 โดยหาก ECI เริ่มปรับตัวขึ้นในอัตราชะลอลง อาทิ ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ +1.2% จากไตรมาสก่อนหน้า ก็จะสะท้อนแรงกดดันเงินเฟ้อผ่านการเพิ่มขึ้นของต้นทุนค่าจ้างที่เริ่มลดลงได้และชี้ว่าเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงในที่สุด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตาอีกหนึ่งสัญญาณต่อแนวโน้มเงินเฟ้อ ผ่านรายงานเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้น 1 ปี และเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลาง 3 ปี ที่จะประกาศพร้อมรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) โดยหากเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นและระยะปานกลางปรับตัวลงต่อเนื่องและต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายความกังวลปัญหาเงินเฟ้อสูงในสหรัฐฯ มากขึ้น
และนอกเหนือจากการประชุม BOJ รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหากผลประกอบการส่วนใหญ่ยังคงออกมาดีกว่าคาด ก็จะสามารถช่วยหนุนบรรยากาศในตลาดการเงินได้
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ในกรอบ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอประเมินทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่านรายงาน เงินเฟ้อ PCE รวมถึง เงินเฟ้อคาดการณ์ และ ดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (ECI) ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของค่าเงิน ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยหาก BOJ ยังคงเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย สวนทางกับเฟด ก็อาจเห็นการกลับมาอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่นได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวเราอาจเห็นค่าเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากการกลับเข้ามาซื้อหุ้น รวมถึงบอนด์ระยะยาวจากนักลงทุนต่างชาติ ทำให้โซนแนวต้านของค่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 38.00 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่โซนแนวรับยังคงอยู่ในช่วง 37.50 บาทต่อดอลลาร์
ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.70-37.90 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น