ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ( 1 พ.ย.65) ที่ระดับ 38.04 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 38.10 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) มากขึ้น ท่ามกลางแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคฯ ที่รายงานผลประกอบการแย่กว่าคาดหรือผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังกับแนวโน้มผลประกอบการ นำโดย Meta -6.1%, Alphabet -1.9% ทั้งนี้ ความกังวลสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีนที่นำไปสู่การใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง จนอาจกระทบกับการผลิตของ iPhone ถึง 30% ยังกดดันให้ ราคาหุ้น Apple -1.5% ซึ่งแรงขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ดังกล่าวได้กดดันให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq สหรัฐฯ ปรับตัวลงกว่า -1.03% ส่วนดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลงราว -0.75% ทั้งนี้ เรามองว่าผู้เล่นในตลาดอาจอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก จนกว่าจะรับรู้ผลการประชุมเฟดในวันพฤหัสฯ ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังการส่งสัญญาณชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.35% หนุนโดยความหวังว่าเฟดอาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย และรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ในยุโรปที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ แม้ว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ตามคาด แต่ผู้เล่นในตลาดก็มองว่า ECB ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงแนวโน้มการเร่งขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดหวังว่า ECB อาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ในช่วงปลายปี
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 4.06% อีกครั้ง ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75% ในการประชุมวันพฤหัสฯ นี้ อย่างไรก็ดี มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างคาดหวังว่า เฟดอาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนธันวาคม ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ (รวมถึงบอนด์ยีลด์ระยะสั้นอย่าง บอนด์ยีลด์ 2 ปี) ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นไปมากนัก
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) สามารถพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 111.5 จุด อีกครั้ง ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้น อนึ่ง แม้ว่า ตลาดจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,635 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า การปรับตัวลดลงของราคาทองคำเข้าใกล้โซนแนวรับ อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนตุลาคม โดย ตลาดคาดว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิต อาจลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 50 จุด กดดันโดยภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ขณะเดียวกันบรรดาผู้ผลิตก็ยังแบกรับต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงอยู่
ส่วนในฝั่งไทย ตลาดคาดว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาก็จะทำให้ ภาคการผลิตของไทยอาจขยายตัวในอัตราชะลอลงเช่นกัน โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนตุลาคมอาจลดลงสู่ระดับ 55.5 จุด (ดัชนีมากกว่า 50 หมายถึง ภาวะขยายตัว)
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways และอาจทรงตัวเหนือระดับ 38.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ท่ามกลางบรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง โดยปัจจัยกดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่า คือ แนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ในภาวะปิดรับความเสี่ยง รวมถึง โฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว อย่างไรก็ดี เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกจำกัดโดย แรงซื้อหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติได้บ้าง หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยสุทธิในช่วงผ่านมา
ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.90-38.15 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น