ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด "ทรงตัว" ที่ระดับ 38.03 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (4 พ.ย.65) ที่ระดับ 38.03 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -1.73% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.06% นอกจากนี้ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานล่าสุด อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ลดลงแตะระดับ 217,000 ราย ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ก็ยังสะท้อนภาพตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัวอยู่ ทำให้ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดจะสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจนแตะจุดสูงสุด (Terminal Rate) ราว 5.25% (จาก CME FedWatch Tool)

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.93% กดดันโดยแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงการเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75% ล่าสุดของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดยังคงเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ Adyen -8.0%, ASML -4.0% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และอาจดำเนินต่อไปจนถึงช่วงกลางปี 2024

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 4.20% ตามแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ก่อนที่จะพลิกกลับมาปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.15% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก หลังจากที่ล่าสุดธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ระบุว่าเศรษฐกิจอังกฤษอาจเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ยาวนาน ซึ่งความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนักได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อสะสม

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ทดสอบระดับ 113 จุด อีกครั้ง หนุนโดยแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในจังหวะที่ตลาดอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) -0.7% สู่ระดับ 1.117 ดอลลาร์ต่อปอนด์ จากความกังวลเศรษฐกิจอังกฤษเข้าสู่ภาวะถดถอย ก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ แม้ว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์จะกดดันราคาทองคำจนแตะระดับโซนแนวรับ 1,620 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทว่าราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ก็สามารถพลิกกลับมารีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 1,632 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก ซึ่งหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนยังทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวเพื่อถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลตลาดแรงงาน โดยตลาดประเมินว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนตุลาคมก็อาจลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 1.9-2.0 แสนราย ซึ่งจะสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของอัตราว่างงาน (Unemployment) สู่ระดับ 3.6% ทว่า อัตราการเติบโตของค่าจ้างรายชั่วโมง (Average Hourly Earnings) จะยังอยู่ในระดับสูง +4.7%y/y แม้ว่าจะชะลอลงมาบ้าง แต่ก็ยังสะท้อนว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจากตลาดแรงงานนั้นยังคงมีอยู่ ซึ่งภาพรวมของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว จะทำให้เฟดสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ จนกว่าจะเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงที่ชัดเจนของทั้งตลาดแรงงานสหรัฐฯและเงินเฟ้อ

ส่วนในฝั่งไทย เราคาดว่าระดับฐานราคาที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อนหน้าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนตุลาคม ชะลอลงสู่ระดับ 6.1% อนึ่ง ผลกระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่จะหนุนราคาสินค้าเกษตรให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง นอกจากนี้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงก็มีการปรับตัวขึ้นราว +0.7% จากเดือนก่อนหน้า

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด นอกจากนี้ ท่าทีของทางการจีนที่ยังไม่ส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID ก็อาจกดดันให้เงินหยวนของจีน (CNY) ผันผวนในฝั่งอ่อนค่า ซึ่งสามารถกระทบต่อภาพรวมของสกุลเงินในฝั่งเอเชียได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปหลังจากที่เงินบาทได้อ่อนค่าเหนือโซนแนวต้าน 38.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งต้องจับตาทิศทางราคาทองคำ รวมถึงฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ทั้งโฟลว์ในฝั่งตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ เพราะหากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้เทขายสินทรัพย์ไทยรุนแรงและราคาทองคำไม่ได้ปรับตัวลงหนัก เราประเมินว่า เงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากนักจากโซนแนวต้าน ส่วนในโซนแนวรับของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 37.50-37.70 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าเป็นระดับที่บรรดาผู้นำเข้าต่างรอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์

ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.85-38.10 บาท/ดอลลาร์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 พ.ย. 2565 เวลา : 10:02:00

23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 8:32 pm