ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (8 พ.ย.65) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 37.27 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (8 พ.ย.65) ที่ระดับ 37.27 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.39 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง ส่งผลให้ ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว +0.96%หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ อาทิ Microsoft +2.9%, Alphabet +2.2% ส่วนหุ้น Meta +6.5% หลังบริษัทเตรียมเปิดเผยแผนการลดการจ้างงานครั้งใหญ่ในสัปดาห์นี้ ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาต้นทุนการดำเนินธุรกิจของ Meta ที่สูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil, Chevron +1.2%) ท่ามกลางความหวังว่าเศรษฐกิจจีนอาจกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น หากทางการจีนพิจารณาผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID อย่างไรก็ดี เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอประเมินผลการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองอย่างชัดเจนอีกครั้ง

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นราว +0.33% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ยังคงออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากมุมมองของบรรดานักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์ที่เริ่มมีมุมมองเป็นบวกต่อทิศทางตลาดหุ้นยุโรปมากขึ้น สะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในยูโรโซน (Sentix Investor Sentiment) ที่ปรับตัวดีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน โดยส่วนหนึ่งมาจากความกังวลวิกฤตพลังงานที่ลดลง หลังอุณหภูมิของฤดูหนาวยุโรปอาจสูงกว่าช่วงปกติ และการเก็บสำรองแก๊สธรรมชาติของยุโรปโดยรวมอยู่ในระดับสูง

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.22% อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจเริ่มแกว่งตัว Sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินผลการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางการเมืองรวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ในช่วง 2 ปี ข้างหน้าก่อนจะถึงการเลือกตั้งใหญ่อีกครั้ง

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 110.2 จุด กดดันโดยแรงขายเงินดอลลาร์ หลังตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ทำให้ เงินดอลลาร์มีความน่าสนใจน้อยลงในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินฝั่งยุโรป อาทิ เงินยูโร (EUR) ที่ปรับตัวขึ้นสูงกว่าระดับ 1.00 ดอลลาร์ต่อยูโร ได้อีกครั้ง หลังบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของ ECB กอปรกับตลาดหุ้นยุโรปที่อยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินยูโรทยอยแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง แต่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้น ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านและย่อตัวลงตามแรงขายทำกำไรสู่ระดับ 1,676 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม คือ การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ (the US Midterm Election) ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยชี้ชะตาทิศทางการเมืองสหรัฐฯ และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วง 2 ปี ข้างหน้า จนกว่าจะถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ทั้งนี้ เราคาดว่า ผลการเลือกตั้งจะทยอยรับรู้ได้ในช่วงสายของวันพุธ ทำให้ตลาดการเงินอาจผันผวนไปตามผลการเลือกตั้งได้ นอกจากนี้ เราประเมินว่า มีโอกาสที่การนับคะแนนอาจใช้เวลานานหลายวันได้ เนื่องจากบางรัฐที่อาจเป็นตัวตัดสินผลการเลือกตั้งจะมีการนับคะแนนผ่านไปรษณีย์ที่ช้า อย่างไรก็ดี ตลาดประเมินว่า คะแนนความนิยมของประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่ลดลงท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูง จะส่งผลให้ พรรครีพลับริกันจะสามารถกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ได้ ส่วนวุฒิสภามีโอกาสที่พรรคเดโมแครตของประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจยังครองเสียงข้างมากได้ ซึ่งการแบ่งขั้วทางการเมืองในสภาคองเกรสอาจทำให้การเมืองสหรัฐฯ เผชิญปัญหามากขึ้นและการผ่านร่างกฎหมายหรือมาตรการต่างๆ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็อาจเผชิญอุปสรรคและการคัดค้านจากฝ่ายตรงข้าม

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภายใต้ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ที่กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง จะช่วยหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นใกล้โซนแนวรับ ตามที่เราคาดการณ์ในวันก่อนได้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า ความผันผวนในตลาดการเงินจะเริ่มกลับมาในช่วงที่ผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้ผลการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา หากพรรคการเมืองของประธานาธิบดีปัจจุบัน สูญเสียอำนาจการครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส (อาจเสียอำนาจทั้งในสภาผู้แทนฯ หรือ วุฒิสภา หรือ ทั้งสองสภา) อย่างในปี 1994 และ ปี 2010 ตลาดอาจกังวลปัญหาการเมืองสหรัฐฯ และเลือกที่จะปิดรับความเสี่ยงและถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 3%-4% ได้ในระยะสั้น

ทั้งนี้ เราคงมองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด ตราบใดที่ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติยังมีทิศทางซื้อสินทรัพย์ไทยสุทธิ ขณะเดียวกันผู้ส่งออกบางส่วนก็เริ่มพิจารณาขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 38.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนผู้นำเข้าส่วนใหญ่ต่างรอซื้อเงินดอลลาร์ในจังหวะเงินบาทแข็งค่า โดยเฉพาะหากเงินบาทแข็งค่าใกล้โซนแนวรับ 37.00-37.10 บาทต่อดอลลาร์

ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.10-37.40 บาท/ดอลลาร์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 พ.ย. 2565 เวลา : 09:53:05

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:49 am