ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (10 พ.ย.65) ที่ระดับ 36.87 บาทต่อดอลลาร์
“อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.85 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งการเทอมสหรัฐฯ ที่ยังไม่สามารถชชี้ชัดได้ว่า พรรคการเมืองใดจะสามารถครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส ส่งผลให้บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง โดย ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง -2.08% นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจทยอยลดความเสี่ยง ก่อนที่จะรับรู้รายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI ในวันนี้ (เวลาประมาณ 20.30 ตามเวลาในประเทศไทย) ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนตุลาคมจะส่งสัญญาณชะลอตัวลงและช่วยเพิ่มโอกาสที่เฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้ หากเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ กลับเร่งตัวขึ้นสูงกว่าคาด ก็อาจกดดันให้ตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงต่อได้เช่นกัน
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.30% ตามแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด หลังจากที่ตลาดหุ้นยุโรปได้ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้า โดยเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจเลือกที่จะลดความเสี่ยงลงบ้าง ก่อนรับรู้ผลการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ และรายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบ (Equinor -1.3%, TotalEnergies -0.8%) ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์การระบาด COVID-19 ที่อาจกระทบต่อความต้องการใช้พลังงาน
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ ความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 4.10% อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรระวังความเสี่ยงของรายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เพราะหาก เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน มีการเร่งตัวขึ้นมากกว่าคาด ก็อาจทำให้ตลาดมีการปรับมุมมองความคาดหวังต่อทิศทางนโยบายการเงินของเฟด โดยเราสังเกตว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มักจะปรับตัวสูงขึ้น ตามมุมมองของตลาดต่อจุดสูงสุดของดอกเบี้ยนโยบายเฟด (Terminal Rate) ที่ในปัจจุบันตลาดคาดว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยถึงระดับ 5.25%
ในฝั่งตลาดค่าเงิน ความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่ตลาดเผชิญความไม่แน่นอนทั้งผลการเลือกตั้งกลางเทอมและรายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ได้หนุนให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้โซน 110.5 จุด นอกจากนี้ การกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ผันผวนใกล้ระดับ 1,710 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านแถว 1,720 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ซึ่งควรระมัดระวังความผันผวนของราคาทองคำในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานเงินเฟ้อสหรัฐฯ รวมถึงผลการเลือกตั้งกลางเทอม (ยกเว้นการเลือกตั้งวุฒิสภาของรัฐจอร์เจียที่จะต้องมีการเลือกตั้งอีกรอบในต้นเดือนธันวาคม หลังจากที่ไม่มีผู้สมัครท่านใดได้คะแนนเกิน 50%)
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะจับตาอย่างใกล้ชิดและอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางตลาดการเงิน คือ รายงานเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม โดยตลาดมองว่า เงินเฟ้อทั่วไป CPI อาจชะลอลงสู่ระดับ 8.0% ตามการชะลอลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนราคาพลังงานก็ทรงตัว ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสำคัญต่อ เงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI โดยหาก Core CPI ชะลอลงสู่ระดับ 6.5% (คิดเป็นการเพิ่มขึ้นราว +0.5% จากเดือนก่อนหน้า) หรือต่ำกว่านั้น ก็อาจสะท้อนว่า เงินเฟ้อ โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมั่นใจว่า เฟดอาจพิจารณาชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดๆ ไป
นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่ควรติดตามต่อเนื่อง หลังจากที่พรรคเดโมแครตของประธานาธิบดีโจ ไบเดน สามารถทำผลงานได้ดีกว่าคาด ทำให้ผลการเลือกตั้งยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ในหลายรัฐที่คะแนนเสียงของทั้งสองพรรคมีความสูสีกัน
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา อาจเริ่มถูกชะลอลงและมีโอกาสเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง หลังจากผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น ในระหว่างที่รอผลการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ และรอลุ้นรายงานเงินเฟ้อ CPI โดยเราประเมินว่า หากเงินเฟ้อ CPI โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI เร่งขึ้นมากกว่า +0.5% อาทิ +0.7% จากเดือนก่อนหน้า ก็อาจทำให้ตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้ตลาดเดินหน้าปิดรับความเสี่ยงและหนุนให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นได้
อย่างไรก็ดี ในกรณีดังกล่าว การอ่อนค่าของเงินบาทอาจไม่ได้รุนแรงมากนัก หลังผู้ส่งออกบางส่วนเริ่มกลับมารอขายเงินดอลลาร์ในช่วง 37.30 บาทต่อดอลลาร์ จากช่วงก่อนหน้าที่ส่วนใหญ่จะรอแถว 38.00 บาทต่อดอลลาร์หรือสูงกว่านั้น นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็อาจยังไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อได้บ้าง ซึ่งเราประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยในระยะสั้น หากดัชนี SET ปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านแถว 1,650 จุด
ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.75-37.05 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น