ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (17 พ.ย.65) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (17 พ.ย.65) ที่ระดับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์
“อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.63 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แม้ว่า ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม จะขยายตัว +1.3% จากเดือนก่อนหน้า ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดก็เริ่มทำให้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มกังวลว่า เฟดอาจสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้สูงกว่าที่ตลาดประเมินไว้ (แม้อัตราการขึ้นจะลดลงก็ตาม) ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ออกมาเพิ่มเติม อาทิ Meta -3.3%, Amazon -1.8% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของบรรดาหุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิป หลังบริษัท Micron ประกาศปรับแผนลดการผลิตชิปและแผนการลงทุน ตามแนวโน้มความต้องการใช้ชิปที่จะลดลงในปีหน้า ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -1.54% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.83%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวลดลง -0.98% กดดันโดยแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เช่นเดียวกันกับในฝั่งสหรัฐฯ โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมผลิตชิป อย่าง ASML -3.6% นอกจากนี้ ความกังวลต่อแนวโน้มความต้องการซื้อรถในฝั่งจีนที่อาจลดลง ได้กดดันให้หุ้นกลุ่มยานยนต์ของยุโรปต่างปรับตัวลดลงหนักไม่น้อยกว่า -3%

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงหนุนให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 3.69% อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนไม่ควรไล่ราคาซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่ยีลด์ปรับตัวลดลง และควรรอจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยซื้อ เพื่อเตรียมพอร์ตการลงทุนในพร้อมรับมือแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหนักในปีหน้า ซึ่งเรามองว่า ยังมีความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวจะปรับตัวสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ข้อมูลตลาดแรงงาน หรือ ข้อมูลเงินเฟ้อ ยังคงสนับสนุนแนวโน้มเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนอาจเกินระดับ 5% และจุดที่จะทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด คือ การประชุมเฟดเดือนธันวาคม ซึ่งเฟดจะประกาศคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Dot Plot ใหม่

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อาจจะบานปลาย จนนำไปสู่สงครามรัสเซีย-นาโต้ เนื่องจากฝั่งนาโต้ รวมถึงผู้นำสหรัฐฯ ออกมาแถลงว่า ขีปนาวุธที่ตกในโปแลนด์อาจไม่ได้ยิงมาจากฝั่งรัสเซียและอาจเกิดจากความผิดพลาดของระบบป้องกันขีปนาวุธของยูเครน อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์พลิกกลับมาทยอยแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด หนุนให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) รีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 106.3 จุด (+0.2%) ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปได้ไกล แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวลดลงก็ตาม ทำให้ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวเหนือระดับ 1,780 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อนึ่ง เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดมีโอกาสทยอยขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้าน ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวจะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าได้

สำหรับวันนี้ แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจะมีไม่มาก แต่ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด (ส่วนใหญ่เป็น FOMC Voting Members) โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งมีมุมมองสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่ผ่านมา หรือ มีมุมมอง “Hawkish” อาทิ James Bullard, Michelle Bowman และ Loretta Mester หลังจากที่ล่าสุด รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่จะสะท้อนแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ทั้ง CPI และล่าสุด PPI ได้ชะลอตัวลงมากกว่าคาด อีกทั้ง ตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาจเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงของการจ้างงาน หลังบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ต่างปรับแผนการจ้างงานและมีการทยอยปรับลดพนักงานลง

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทเริ่มเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ที่หนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ ในฝั่งของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เราเริ่มเห็นแรงขายทำกำไรจากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น (ซึ่งถือว่าเป็นจังหวะที่ดี เพราะได้ทั้งกำไรจากหุ้น บอนด์และค่าเงิน) ซึ่งแนวโน้มนักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์ไทย ก็อาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้บ้างในระยะสั้น นอกจากนี้ เรามองว่า ควรติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด สาย “Hawkish” อย่างใกล้ชิด เนื่องจากความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดกลุ่มดังกล่าว อาจส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนสูงขึ้นได้ โดยต้องจับตาประเด็นสำคัญ ว่า เฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้จริงหรือไม่ และเฟดจะมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยไปถึงจุดไหน รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหนักมากขนาดไหน

อย่างไรก็ดี เรามองว่า โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ อาจพอช่วยชะลอแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้บ้าง ทำให้แนวต้านของเงินบาทจะอยู่ในโซน 35.85-36.00 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่ แนวรับยังคงเป็นโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ (หากหลุดระดับดังกล่าว แนวรับสำคัญถัดไป คือ 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งเราประเมินว่าบรรดาผู้นำเข้าส่วนใหญ่ต่างรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศในโซนดังกล่าว

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่าน ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.70-35.95 บาท/ดอลลาร์
 

LastUpdate 17/11/2565 10:14:12 โดย : Admin

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 4:13 am