ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (24 พ.ย.65) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (24 พ.ย.65) ที่ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.27 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า รายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ที่ระบุว่าบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างสนับสนุนให้ชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 47.6 จุด และ 46.1 จุด ซึ่งแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ (ดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 จุด หมายถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิต/ภาคการบริการ) ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมั่นใจว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและอาจขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้สูงมากนัก หากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ แย่ลงมากขึ้น (สอดคล้องกับความกังวลของเจ้าหน้าที่เฟดในรายงานการประชุมเฟดล่าสุด) นอกจากนี้ แนวโน้มเฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยยังคงหนุนให้ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth Nvidia +3.0%, Alphabet +1.5% ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.99% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.59%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ปรับตัวขึ้น +0.60% หนุนรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าบรรดาธนาคารกลางจะเริ่มชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและอาจยุติการขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีหน้าก็มีส่วนช่วยหนุนการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้น Growth ฝั่งยุโรป อาทิ ASML +2.3%

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยิ่งมั่นใจว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและอาจไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยไปได้ไกลมาก ตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.69% ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้ ขึ้นกับมุมมองของตลาดต่อระดับสูงสุดของดอกเบี้ยเฟด (Terminal Rate) โดยต้องติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อมูลเงินเฟ้อและตลาดแรงงาน ในช่วงก่อนถึงการประชุมเฟดในเดือนธันวาคม ซึ่งเราคาดว่าจะเป็นจุดที่ชี้ชะตาบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ว่าจะกลับมาเป็นเทรนด์ขาลงชัดเจนได้หรือไม่

ในฝั่งตลาดค่าเงิน ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้น ได้กดดันให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลง -0.9% สู่ระดับ 106 จุด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังเผชิญแรงกดดันจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของยูโรโซนและอังกฤษออกมาดีกว่าคาด อนึ่ง แม้ว่าตลาดการเงินจะเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง แต่ทว่าการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) รีบาวด์ขึ้น +1.0% กลับสู่ระดับ 1,768 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า การรีบาวด์ของราคาทองคำดังกล่าว อาจมีผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำได้ โดยเฉพาะหากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านได้ และโฟลว์ขายทำกำไรทองคำดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน หลังรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการล่าสุดออกมาดีกว่าคาด โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่าวิกฤตพลังงานที่ไม่ได้น่ากังวลมากนัก จะช่วยหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) เดือนพฤศจิกายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 85 จุด นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ล่าสุด เพื่อประเมินแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตของ ECB ว่าจะเร่งขึ้น +75bps ต่อเนื่องได้หรือไม่ และ ECB จะขึ้นดอกเบี้ยไปถึงระดับใดในปีหน้า

ในฝั่งเอเชีย ตลาดมองว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +0.25% สู่ระดับ 3.25% เพื่อคุมสถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเกือบ 6% และช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินวอน (KRW)

ส่วนในฝั่งไทย ตลาดคาดว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยอาจได้รับผลกระทบจากภาพเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยยอดการส่งออก (Exports) อาจโตเพียง 5.5%y/y ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) ยังโตกว่า +10%y/y ทำให้ดุลการค้า (Trade Balance) ในเดือนตุลาคมอาจกลับมาขาดดุลถึง -1.4 พันล้านดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด คือ ปัจจัยที่ช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้บ้าง เช่นเดียวกับ การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำที่อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไร ทว่า เราประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าจนหลุดโซนแนวรับ 35.80-35.90 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากในช่วงปลายเดือน บรรดาผู้นำเข้าอาจเริ่มทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ แรงขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติก็สามารถเป็นอีกปัจจัยที่จะชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้

อย่างไรก็ดี ควรรอติดตามรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยหากยอดการส่งออกขยายดีตัวกว่าคาด จนทำให้ดุลการค้าขาดดุลน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ก็อาจช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้ แต่เรามองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงชัดเจน อาจทำให้โอกาสที่ยอดการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ดีกว่าคาดนั้น เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร ดังนั้น ผู้เล่นในตลาดจึงควรระวังความเสี่ยงที่เงินบาทจะพลิกกลับมาอ่อนค่าลง หากดุลการค้าขาดดุลมากขึ้นตามที่ตลาดคาด หรือ ขาดดุลมากกว่าคาด

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.85-36.15 บาท/ดอลลาร์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 พ.ย. 2565 เวลา : 10:19:01

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:12 am