ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้ (28 พ.ย.65) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 35.95 บาทต่อดอลลาร์


 

 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (28 พ.ย.65) ที่ระดับ 35.95 บาทต่อดอลลาร์
"อ่อนค่าลง" จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าตลาดโดยรวมจะเปิดรับความเสี่ยง หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แต่สถานการณ์ COVID-19 ในจีนที่น่ากังวล ได้เริ่มกลับมากดดันสินทรัพย์ฝั่งเอเชียมากขึ้น

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด และรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด (เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้ถึงระดับใด)

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (ISM Manufacturing PMI) ในเดือนพฤศจิกายน โดยตลาดคาดว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตจะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.8 จุด (ดัชนี น้อยกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตที่ซบเซาลง ท่ามกลางแรงกดดันจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันยังคงเป็นภาคส่วนที่แข็งแกร่งที่สุดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยตลาดประเมินว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยรวมอาจชะลอลง สะท้อนผ่านยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในเดือนพฤศจิกายนที่จะเพิ่มขึ้น 2 แสนตำแหน่ง ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่มีการจ้างงาน +2.6 แสนตำแหน่ง นอกจากนี้ ค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) อาจโตชะลอลงเหลือ +0.3%m/m หรือ +4.6%y/y ซึ่งอาจช่วยลดแรงกดดันต่อสถานการณ์เงินเฟ้อหรือลดความเสี่ยงของ Wage-Price Spiral ที่เฟดกังวล ทั้งนี้ อีกไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด Jerome Powell หลังเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ได้ส่งสัญญาณสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด ในอัตราการขึ้นดอกเบี้ยที่ชะลอลงจากช่วงก่อนหน้า ดังนั้น ตลาดจะรอลุ้นว่า ประธานเฟดจะมีมุมมองอย่างไร โดยต้องระวังหากประธานเฟดส่งสัญญาณย้ำว่า เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกมาก เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ตลาดก็อาจกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ได้ไม่ยาก

ฝั่งยุโรป – ตลาดประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของยูโรโซนในเดือนพฤศจิกายนอาจชะลอลงสู่ระดับ 10.4% หลังแรงกดดันจากราคาสินค้าพลังงานและค่าไฟฟ้าเริ่มลดลง อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ยังอยู่ในระดับสูงถึง 5.0% ทำให้ตลาดยังคงมองว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ โดย อัตราดอกเบี้ยนโยบาย Deposit Facility Rate อาจปรับขึ้นใกล้ระดับ 3.00% ได้ในปีหน้า จากระดับล่าสุด 1.50%

ฝั่งเอเชีย – ตลาดมองว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศล่าสุด ซึ่งจะหนุนให้ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนตุลาคม ขยายตัว +1.0% จากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจะกดดันให้ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนตุลาคม หดตัวกว่า -1.8% จากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับแนวโน้มดัชนี PMI ภาคการผลิตของญี่ปุ่นที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่วนในฝั่งจีน บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจะยังคงเผชิญแรงกดดันจากมาตรการ Zero COVID ท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ในจีนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการของจีนหดตัวลงต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ เดือนพฤศจิกายน ที่จะลดลงสู่ระดับ 49.2 จุด และ 48 จุด ตามลำดับ

ฝั่งไทย – ตลาดคาดว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยอาจได้รับผลกระทบจากภาพเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยยอดการส่งออก (Exports) อาจโตเพียง 5.5%y/y ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) ยังโตกว่า +10%y/y ทำให้ดุลการค้า (Trade Balance) ในเดือนตุลาคมอาจกลับมาขาดดุลถึง -1.4 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ แรงกดดันจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาจะส่งผลให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยก็อาจขยายตัวในอัตราชะลอลง โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนพฤศจิกายน อาจปรับตัวลดลงสู่ระดับ 51 จุด อนึ่ง เรามองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ไม่ได้รุนแรงมากเช่นในฝั่งสหรัฐฯ หรือ ยุโรป จะทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +0.25% สู่ระดับ 1.25% ทั้งนี้ เรามองว่า ควรติดตามคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีหน้า รวมถึงปัจจัยเสี่ยงที่ กนง. กังวล เพื่อประเมินแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของไทย (ล่าสุด เรามองว่า กนง. จะสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ถึงระดับ 2.00% ในกลางปีหน้า)

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนฝั่งอ่อนค่าตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และควรระวัง สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดสถานะการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงและสกุลเงินฝั่งเอเชียในระยะสั้น (เงินหยวนเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทถึง 79%) และเลือกที่จะถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven)

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์สามารถแข็งค่าขึ้นได้ ในกรณีที่ตลาดการเงินพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หากประธานเฟดย้ำจุดยืนเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าเฟดควรชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดไปมาก ก็อาจยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.50-36.30 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.80-36.05 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 พ.ย. 2565 เวลา : 10:11:58

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:08 am