ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (16 ธ.ค.65) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 35.10 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (16 ธ.ค.65) ที่ระดับ 35.10 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.92 บาทต่อดอลลาร์
 
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) มากขึ้น ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนพฤศจิกายน ได้หดตัว -0.6% จากเดือนก่อนหน้า แย่กว่าที่ตลาดคาดไปมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น กดดันให้ดัชนี S&P500 ดิ่งลงกว่า -2.49%
 
ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ดิ่งลง -2.85% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยล่าสุด ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Deposit Facility Rate +0.50% สู่ระดับ 2.00% พร้อมทั้งส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนกว่า ECB จะมั่นใจว่าสามารถคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ นอกจากนี้ ทาง ECB ยังได้ประกาศเตรียมปรับลดงบดุล (Balance Sheet Reduction) เดือนละ 1.5 หมื่นล้านยูโร ในเดือนมีนาคมหน้า จนถึงสิ้นไตรมาสที่ 2 ซึ่งแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยและการปรับลดงบดุลของ ECB ได้ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ Adyen -8.7%, ASML -5.8%
 
ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรดาธนาคารกลางหลักจะส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ทว่า ความกังวลผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว ที่อาจทำให้บรรดาเศรษฐกิจหลักเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ในปีหน้า ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 3.46% ซึ่งเรามองว่า ในระยะสั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways ไปก่อน จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา ทำให้ตลาดมั่นใจในแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือ ทิศทางนโยบายการเงินของเฟดมากขึ้น
 
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนหนัก โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงในช่วงที่ตลาดรับรู้ผลการประชุมของ ECB ก่อนที่จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงตลาดปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า ส่งผลให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.5 จุด อย่างไรก็ดี แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง อีกทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังย่อตัวลงบ้าง แต่การแข็งค่าขึ้นเร็วของเงินดอลลาร์ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,786 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่า การย่อตัวลงของราคาทองคำ อาจทำให้มีโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวกลับเข้ามาบ้าง ซึ่งโฟลว์ดังกล่าวก็มีส่วนในการกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก ทั้งในฝั่งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ซึ่งสำรวจโดย S&P Global อาทิ ในฝั่งญี่ปุ่น ตลาดมองว่า การทยอยเปิดประเทศของญี่ปุ่นจะช่วยหนุนให้ดัชนี PMI ภาคการบริการในเดือนธันวาคม อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.5 จุด ในขณะที่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและจีนจะกดดันให้ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นชะลอลงตัวลง สอดคล้องกับการปรับตัวลงต่อเนื่องของดัชนี PMI ภาคการผลิตสู่ระดับ 49 จุด
 
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดอาจยังคงหนุนความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง เงินดอลลาร์ ในช่วงนี้ กดดันให้เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงได้ ซึ่งเราประเมินว่า หากเงินบาทอ่อนค่าลง แนวต้านสำคัญแรกของเงินบาทจะอยู่ในโซน 35.10-35.20 บาทต่อดอลลาร์ โดยต้องจับตาฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ ว่าจะมีแรงขายสินทรัพย์ไทยมากขึ้นขนาดไหน อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านไปมาก หากไม่ได้มีปัจจัยลบอื่นๆ เข้ามากดดันเพิ่มเติม เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาด ต่างก็รอจังหวะให้เงินบาทอ่อนค่าเพื่อทยอยขายเงินดอลลาร์ หรือ เพิ่มสถานะ Short USDTHB (มองว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระยะถัดไป)
 
การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
 
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.90-35.20 บาท/ดอลลาร์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ธ.ค. 2565 เวลา : 10:29:10

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 8:13 pm