ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้ (19 ธ.ค.65) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 34.87 บาทต่อดอลลาร์


 

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (19 ธ.ค.65)ที่ระดับ 34.87 บาทต่อดอลลาร์
“แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.97 บาทต่อดอลลาร์
 
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หากบรรดาธนาคารกลางหลักเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง
 
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตารายงานดัชนี PCE สหรัฐฯ ซึ่งเป็นข้อมูลสะท้อนเงินเฟ้อที่เฟดติดตามอย่างใกล้ชิด และรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
 
 
 
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
 
ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงต่อเนื่อง รวมถึงราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา อาจส่งผลให้ในเดือนพฤศจิกายน ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (PCE) ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่เฟดจับตาอย่างใกล้ชิด อาจเพิ่มขึ้น +5.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน ก็อาจเพิ่มขึ้นเพียง +4.6%y/y นับว่าเป็นการชะลอลงอย่างต่อเนื่องของดัชนีชี้วัดภาวะเงินเฟ้อที่เฟดจับตามองใกล้ชิด  และหากดัชนี PCE และ Core PCE ชะลอลงตามคาดและยังคงชะลอลงในอัตราดังกล่าวต่อเนื่อง ก็จะสะท้อนว่า คาดการณ์ของเฟดล่าสุดอาจมองแนวโน้มเงินเฟ้อสูงเกินไปบ้าง ซึ่งในกรณีที่ ดัชนี PCE และ Core PCE ชะลอลงตามคาด หรือ ชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยไปไกลเกินกว่าระดับ 5.00% ซึ่งอาจช่วยให้บรรยากาศในตลาดการเงินพลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้
 
ฝั่งยุโรป – ตลาดประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ที่เยอรมนีอาจเผชิญในปีหน้า อาจไม่ได้เลวร้ายมากนัก สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) ที่อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 87.4 จุด ในเดือนธันวาคม ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับความกังวลปัญหาขาดแคลนแก๊สธรรมชาติที่คลี่คลายลงมากขึ้น แนวโน้มเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอตัวลง และมาตรการช่วยเหลือภาคครัวเรือนจากรัฐบาล ซึ่งในสัปดาห์ก่อน ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Survey) ก็ปรับตัวดีขึ้นมากกว่าคาด นอกจากนี้ ความกังวลปัญหาขาดแคลนพลังงานที่คลี่คลายลง รวมถึงแนวโน้มเงินเฟ้อชะลอลง ก็อาจช่วยหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) ของยูโรโซน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -22 จุด ในเดือนธันวาคม จาก -23.9 จุด ในเดือนก่อนหน้า
 
ฝั่งเอเชีย – ตลาดมองว่า บรรดาธนาคารพาณิชย์ในจีนอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี (Loan Prime Rate) ประเภท 5 ปี ลง -10bps สู่ระดับ 4.20% เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการพยุงภาคอสังหาฯ ของทางการจีน ในขณะที่อัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปี ซึ่งถูกใช้ในการคำนวณอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ภาคเอกชนและครัวเรือน อาจยังคงอยู่ที่ระดับ 3.65% ส่วนในฝั่งธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เรามองว่า แม้ว่าเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะเร่งตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) อาจแตะระดับ 3.9% ในเดือนพฤศจิกายน แต่ BOJ อาจเลือกที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% พร้อมเดินหน้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น 10 ปี เพื่อตรึงระดับบอนด์ยีลด์ไม่ให้สูงกว่า 0.25% ไปมาก หลังเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงเผชิญแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและภาวะเงินเฟ้อที่สูงกดดันการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญ คือ แนวโน้มการปรับนโยบายการเงินในอนาคต โดยเฉพาะในปีหน้าที่ผู้ว่า BOJ คนปัจจุบันจะหมดวาระลง โดยหากทาง BOJ มีการสื่อสารที่ชัดเจนถึงแนวโน้มการปรับนโยบายดังกล่าว ก็อาจหนุนให้ ค่าเงินเยน (JPY) แข็งค่าขึ้นได้บ้างในระยะสั้น ส่วนทางด้าน ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ก็อาจตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +50bps สู่ระดับ 5.75% เพื่อลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินรูเปียห์ (IDR) และช่วยให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย
 
ฝั่งไทย – ตลาดคาดว่า ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะทำให้ยอดการส่งออก (Exports) ในเดือนพฤศจิกายน อาจหดตัวต่อเนื่อง -5%y/y ในขณะที่ยอดการนำเข้า (Imports) อาจยังขยายตัวราว +0.6%y/y ทำให้ดุลการค้า (Trade Balance) อาจขาดดุลราว -100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว Sideways และผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ หรือแรงขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงในระยะสั้น แต่เรามองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน เนื่องจากผู้ส่งออกบางส่วนต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ ส่วนผู้เล่นต่างชาติก็อาจรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าลง เพื่อเพิ่มสถานะ Short USDTHB (มีมุมมองเงินบาทแข็งค่าขึ้น)
 
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจยังพอมีแรงหนุนอยู่บ้าง หากตลาดยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความกังวล Recession อย่างไรก็ดี หากดัชนี PCE สหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้ออาจชะลอลงต่อเนื่องมากกว่าคาด ตลาดก็อาจเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้ นอกจากนี้ หาก BOJ ส่งสัญญาณพร้อมปรับนโยบายการเงินให้ตึงตัวมากขึ้น ก็มีโอกาสที่เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อาจแข็งค่าขึ้นและช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้
 
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
 
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.50-35.20 บาท/ดอลลาร์
 
 
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.75-34.95 บาท/ดอลลาร์

LastUpdate 19/12/2565 10:09:04 โดย : Admin

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 4:15 am