ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (20 ธ.ค.65) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 34.84 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (20 ธ.ค.65) ที่ระดับ 34.84 บาทต่อดอลลาร์
“อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.81 บาทต่อดอลลาร์
 
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) กดดันโดยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) หากเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องตาม Dot Plot ล่าสุด ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยลดการถือครองสินทรัพย์ โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม Tech และหุ้นสไตล์ Growth ที่อ่อนไหวกับการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยหรือบอนด์ยีลด์ (Amazon -3.4%, Alphabet -2.0%) ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลงต่อ -1.49% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.90%
 
ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป สามารถรีบาวด์ขึ้นกว่า +0.27% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP +2.5%, TotalEnergies +1.8%) ตามราคาน้ำมันดิบจากแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานในจีนที่อาจเพิ่มสูงขึ้น หลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด อย่าง ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนี (Ifo Business Climate) ในเดือนธันวาคม ที่ปรับตัวขึ้นดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก ทั้งสหรัฐฯและยุโรปเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันไม่ให้ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นไปได้มาก
 
ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เริ่มทยอยปรับมุมมองต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักที่ยังคงย้ำจุดยืนเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง และเลือกที่จะขายทำกำไรบอนด์ระยะยาวออกมาบ้าง ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 3.60% ซึ่งเรามองว่า หากนักลงทุนกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า ก็ควรรอจังหวะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อสะสม (Buy on Dip)
 
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ส่งผลให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.7 จุด อย่างไรก็ดี แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องใกล้ระดับ 1,797 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่า หากราคาทองคำย่อตัวลงต่อเนื่อง ก็อาจทำให้มีโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวกลับเข้ามาบ้าง ซึ่งโฟลว์ดังกล่าวก็มีส่วนในการกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะจับตา คือ ผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยเรามองว่า แม้ว่าเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะเร่งตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) อาจแตะระดับ 3.9% ในเดือนพฤศจิกายน แต่ BOJ อาจเลือกที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% พร้อมเดินหน้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น 10 ปี เพื่อตรึงระดับบอนด์ยีลด์ไม่ให้สูงกว่า 0.25% ไปมาก หลังเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงเผชิญแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและภาวะเงินเฟ้อที่สูงกดดันการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญ คือ แนวโน้มการปรับนโยบายการเงินในอนาคต โดยเฉพาะในปีหน้าที่ผู้ว่า BOJ คนปัจจุบันจะหมดวาระลง โดยหากทาง BOJ มีการสื่อสารที่ชัดเจนถึงแนวโน้มการปรับนโยบายดังกล่าว ก็อาจหนุนให้ ค่าเงินเยน (JPY) แข็งค่าขึ้นได้บ้างในระยะสั้น
 
ส่วนในฝั่งจีน ตลาดมองว่า บรรดาธนาคารพาณิชย์ในจีนอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี (Loan Prime Rate) ประเภท 5 ปี ลง -10bps สู่ระดับ 4.20% เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการพยุงภาคอสังหาฯ ของทางการจีน ในขณะที่อัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปี ซึ่งถูกใช้ในการคำนวณอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ภาคเอกชนและครัวเรือน อาจยังคงอยู่ที่ระดับ 3.65%
 
และในฝั่งยุโรป ตลาดคาดว่า ความกังวลปัญหาขาดแคลนพลังงานที่คลี่คลายลง รวมถึงแนวโน้มเงินเฟ้อชะลอลง ก็อาจช่วยหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) ของยูโรโซน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -22 จุด ในเดือนธันวาคม จาก -23.9 จุด ในเดือนก่อนหน้า
 
 
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดอาจยังคงหนุนความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง เงินดอลลาร์ ในช่วงนี้ รวมถึงส่งผลให้ผู้เล่นต่างชาติบางส่วนทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยเพิ่มเติมได้ ซึ่งทั้งสองปัจจัยดังกล่าวก็สามารถกดดันให้เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงได้ นอกจากนี้ หากราคาทองคำย่อตัวลงต่อเนื่อง ก็อาจเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวซึ่งสามารถกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า แรงกดดันเงินบาทดังกล่าวก็อาจไม่ได้ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงจนทะลุแนวต้านสำคัญแรกของเงินบาทแถวโซน 35.00-35.20 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก หากไม่ได้มีปัจจัยลบอื่นๆ เข้ามากดดันเพิ่มเติม เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาด ต่างก็รอจังหวะให้เงินบาทอ่อนค่าเพื่อทยอยขายเงินดอลลาร์ หรือ เพิ่มสถานะ Short USDTHB (มองว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระยะถัดไป)
 
ส่วนในวันนี้ เรามองว่า ผลการประชุม BOJ ก็อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินได้ เพราะหากทาง BOJ เริ่มมีการส่งสัญญาณพร้อมปรับนโยบายการเงินให้ตึงตัวมากขึ้น อาทิ อาจพิจารณาทบทวนนโยบายการเงินหรือมีการปรับกรอบของบอนด์ยีลด์ 10 ปี ญี่ปุ่น ก็อาจส่งผลให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง และอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท
 
การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
 
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.70-34.90 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ธ.ค. 2565 เวลา : 10:00:17

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:57 am