ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (21 ธ.ค.65) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 34.65 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (21 ธ.ค.65) ที่ระดับ 34.65 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.78 บาทต่อดอลลาร์
 
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน หลังจากที่ล่าสุด ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ขยายกรอบบอนด์ยีลด์ 10 ปี ญี่ปุ่น เป็น 0.00%+/-0.50% จากเดิน 0.00%+/-0.25% ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวขึ้น +10bps สู่ระดับ 3.70% กดดันให้ ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังไม่กล้ากลับเข้ามาซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อย่างเต็มที่ แม้ว่าหุ้นกลุ่มดังกล่าวจะปรับตัวลงมาพอสมควรในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Chevron +1.6%, Exxon Mobil +1.5%) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และความหวังว่าทางการสหรัฐฯ อาจทยอยซื้อน้ำมันเข้าสู่คลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (SPR) ทำให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.10%
 
ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.40% กดดันโดยการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ ASML -1.4%, Adyen -1.3% หลังจากบอนด์ยีลด์ระยะยาวในฝั่งยุโรปก็ปรับตัวขึ้นตามบอนด์ยีลด์ 10 ปีของญี่ปุ่น จากการขยับกรอบของ BOJ นอกจากนี้ ความกังวลสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีนได้กลับมากดดันให้หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมต่างก็ปรับตัวลดลง (Kering -3.8%, Hermes -0.9%) ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนธันวาคมที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -22.2 จุด ซึ่งพอช่วยลดความวิตกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยในฝั่งยุโรปได้บ้าง
 
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก (ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงใกล้ระดับ 104 จุด) กดดันโดยการปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังจากที่ BOJ ได้ขยับกรอบบอนด์ยีลด์ 10 ปี ญี่ปุ่น ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดการณ์ว่า BOJ อาจเริ่มทยอยปรับนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายน้อยลง เช่นเดียวกับที่บรรดาธนาคารกลางหลักได้ทำมาก่อนหน้านี้ (ล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า BOJ อาจทยอยขึ้นดอกเบี้ย ครั้งละ +10bps หรือ +0.10% ได้ราว 3 ครั้ง ในปีหน้า) นอกจากนี้ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้น แต่บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนักและการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านสู่ระดับ 1,827 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว อาจมีโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำเกิดขึ้น ซึ่งโฟลว์ดังกล่าวก็มีส่วนช่วยทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา
 
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board ซึ่งตลาดประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคม อาจปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 101 จุด ตามภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง แม้จะชะลอตัวลงบ้าง ส่วนปัญหาเงินเฟ้อสูงก็เริ่มจะคลี่คลายลงมากขึ้น
 
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แม้ว่าเงินบาทอาจพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่า จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ แต่เงินบาทก็อาจไม่ได้แข็งค่ามากกว่าโซนแนวรับที่เรามองว่า แถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเราประเมินว่า หากตลาดการเงินยังคงเผชิญความผันผวนต่อเนื่องจากวันก่อนหน้า ก็มีโอกาสที่ผู้เล่นต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยเพิ่มเติมได้ (นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย -1.7 พันล้านบาทในวันก่อน) และจากแนวโน้มบอนด์ยีลด์ระยะยาวทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นก็อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มขายทำกำไรบอนด์ระยะยาวของไทยได้เช่นกัน (เราเริ่มเห็นการทยอยขายทำกำไรบอนด์ระยะยาวบ้าง แต่ยังไม่มากนัก) และที่น่าสนใจ เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติบางส่วนอาจใช้จังหวะเงินบาทแข็งค่าขึ้นใกล้โซนแนวรับ ในการทยอยขายทำกำไรสถานะ Short USDTHB ซึ่งส่วนหนึ่งได้สะท้อนผ่านยอดขายสุทธิบอนด์ระยะสั้นในสัปดาห์นี้เกือบ -8 พันล้านบาท
 
การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
 
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ธ.ค. 2565 เวลา : 10:07:00

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:32 am