นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยในช่วงแรกตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นได้ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน จากแนวโน้มการเปิดประเทศได้เร็วกว่าคาด ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้หุ้นกลุ่มพลังงานต่างปรับตัวสูงขึ้น (Exxon Mobil +1.4%, Chevron +1.3%) ตามแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานในจีนที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ดี ภาวะเปิดรับความเสี่ยงดังกล่าวของตลาดได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นแตะระดับ 3.85% ส่งผลให้หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่อ่อนไหวกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์/อัตราดอกเบี้ย ปรับตัวลงแรง อาทิ Nvidia -7.1%, Amazon -2.6% กดดันให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลงกว่า -1.38% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.41%
ส่วนในทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.13% หนุนโดยแนวโน้มทางการจีนเดินหน้าเปิดประเทศได้เร็วกว่าคาด ส่งผลให้หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะหุ้นสินค้าแบรนด์เนมต่างปรับตัวสูงขึ้น (Dior +2.4%, Hermes +2.0%) อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปยังคงถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปอาจชะลอตัวลงหนักในปี 2023 ขณะเดียวกัน การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ฝั่งยุโรปตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดก็กดดันให้หุ้นกลุ่มเทคฯ ย่อตัวลงบ้าง (ASML -1.3%)
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงท้ายของการซื้อขาย โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 104.1 จุด ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์มากนักในช่วงปลายปี หากไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระทบตลาด อาทิ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีกว่าคาดมาก จนตลาดกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เงินดอลลาร์ก็อาจเคลื่อนไหวในกรอบ sideways ต่อ ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ทำให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านแถว 1,840 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ไปได้ แต่เรามองว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วน อาจรอทยอยขายทำกำไรทองคำ หากราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้าน โดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำอาจจะช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจมีไม่มากนัก ทำให้ตลาดการเงินอาจเคลื่อนไหวไปตามบรรยากาศในตลาดการเงิน ซึ่งในช่วงนี้ตลาดเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On) จากความหวังการเปิดประเทศจีน อย่างไรก็ดี เรามองว่าการเปิดประเทศจีนในช่วงที่ยอดผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจมีความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง เนื่องจากทางการจีนมีวิธีการรับมือการระบาดของ COVID-19 ที่แตกต่างจากหลายๆ ประเทศที่สามารถเปิดประเทศได้ใน
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงมีแนวโน้มเคลื่อนไหว Sideways โดยอาจพอได้แรงหนุนในฝั่งแข็งค่าบ้าง ตามความหวังการเปิดประเทศจีน ซึ่งอาจสะท้อนผ่านแรงซื้อหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ (ในวันก่อนหน้า นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิกว่า 4.5 พันล้านบาท) อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจไม่แข็งค่าหลุดแนวรับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปไกลมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็รอจังหวะซื้อเงินดอลลาร์อยู่ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น อีกทั้ง การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ทั่วโลก โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์ระยะยาว ก็อาจหนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรการถือบอนด์ระยะยาวของไทยได้เช่นกัน นอกจากนี้ เรามองว่า ควรระมัดระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงปลายปี ซึ่งธุรกรรมในตลาดอาจเบาบางลงมาก ทำให้ค่าเงินสามารถเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบที่กว้างได้
การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น