นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดการเงินสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หลังจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 225,000 ราย และ 1.71 ล้านราย ตามลำดับ สะท้อนการชะลอตัวลงของตลาดแรงงาน ทำให้ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยหรือเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยไปมาก นอกจากนี้ ภาพดังกล่าวยังได้กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 3.82% ส่งผลให้หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth รีบาวด์ขึ้น หลังจากปรับตัวลงหนักในสัปดาห์นี้ อาทิ Nvidia +4.0%, Amazon +2.9%, Apple +2.8% ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +2.59% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.75%
ส่วนในทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ก็สามารถรีบาวด์ขึ้น +0.68% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ตามการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ระยะยาว เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ (ASML +3.0%, Adyen +2.4%) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปเผชิญแรงกดดันจากการย่อตัวลงของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (Anglo American -1.0%) ตามการปรับตัวลงของราคาโลหะพื้นฐาน อาทิ ทองแดง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงกังวลสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีน
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 103.8 จุด ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด เราพบว่า สถานะถือครองเงินดอลลาร์ หรือ Net Long positions ของผู้เล่นในตลาดยังอยู่ในระดับต่ำหลายสัปดาห์ติดต่อกัน ซึ่งอาจสะท้อนว่าผู้เล่นในตลาดไม่ได้มีมุมมองที่ชัดเจนต่อแนวโน้มเงินดอลลาร์ หรือ มองว่าเงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideways อย่างไรก็ดี การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) สามารถปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,821 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
สำหรับวันนี้ เนื่องจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญได้มีการรายงานไปแล้วในสัปดาห์นี้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจรอติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีน เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตาแนวทางการรับมือการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนในหลายประเทศ ทำให้บรรยากาศโดยรวมของตลาดการเงิน โดยเฉพาะในฝั่งเอเชีย อาจไม่สามารถเปิดรับความเสี่ยงได้อย่างเต็มที่นัก
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การกลับมาแข็งค่าของเงินบาทในช่วงเมือคืนที่ผ่านมานั้น มาจากทั้งการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ซึ่งมีโอกาสที่เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ หากบรรยากาศในตลาดยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง อีกทั้งนักลงทุนต่างชาติ ก็ยังคงเดินหน้าซื้อสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผู้เล่นบางส่วนในตลาดก็อาจรอจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ในการทยอยขายเงินดอลลาร์ หรือ ลดสถานะ Short USDTHB (มองเงินบาทแข็งค่า) ลงบ้าง ทำให้ค่าเงินบาทไม่น่าจะแข็งค่าหลุด 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปมากนัก ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงวันทำการสุดท้ายของปี เนื่องจากปริมาณธุรกรรมในตลาดอาจเบาบางลงไปมาก
อนึ่ง การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น