ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (5 ม.ค.66) ที่ระดับ 33.94 บาทต่อดอลลาร์
“แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.06 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดการเงินสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หนุนโดยรายงานการประชุมล่าสุดของเฟดที่บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ แต่จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราชะลอลง เพื่อลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ ซึ่งมุมมองดังกล่าวของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดไม่ได้ต่างจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปบ้าง ส่งผลให้หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth สามารถรีบาวด์ขึ้น และทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.69% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.75%
ส่วนในทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงเดินหน้าปรับตัวขึ้นราว +1.38% หนุนโดยรายงานดัชนี PMI ของยูโรโซนที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจไม่ได้รุนแรงมากนัก นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Dior +4.5%, Hermes +4.2%) ตามความหวังการทยอยเปิดเมืองของจีน
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย หลังรายงานการประชุมล่าสุดของเฟด ชี้ว่าบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีต่อเศรษฐกิจ โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 104.2 จุด ทั้งนี้ การอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) สามารถแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ว่าจะถูกกดดันจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเดินหน้าทยอยขายทำกำไรทองคำต่อเนื่อง (ราคาทองคำแตะจุดสูงสุดราว 1,869 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะย่อตัวลงเล็กน้อย) ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) รวมถึง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ส่วนในฝั่งไทย เราประเมินว่า การบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนธันวาคม เร่งขึ้นสู่ระดับ 5.9% (ส่วนหนึ่งมาจากผลของฐานราคาที่ต่ำในปี 2021) แต่อัตราเงินเฟ้อจะไม่ปรับตัวขึ้นไปมาก เนื่องจากราคาสินค้าพลังงานได้ปรับตัวลดลงในช่วงเดือนธันวาคม
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินบาทนั้น ได้แรงหนุนหลักมาจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังจากที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 1,870 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากแรงซื้อสินทรัพย์ไทย อาทิ บอนด์ระยะสั้น ที่มียอดซื้อสุทธิโดยนักลงทุนต่างชาติกว่า 16.5 หมื่นล้านบาท ในวันก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นการเพิ่มสถานะ Short USDTHB (มองเงินบาทแข็งค่า) ของนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทยังพอได้แรงหนุนในฝั่งแข็งค่าอยู่บ้าง หากปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวยังไม่เปลี่ยนแปลงไป แต่ต้องระวังในกรณีที่เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันนี้ รวมถึงวันศุกร์ (รายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม หรือ Nonfarm Payrolls) ออกมาดีกว่าคาดไปมาก นอกจากนี้ เราประเมินว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรสถานะ Short USDTHB ได้บ้าง หลังเงินบาทเริ่มปรับตัวแข็งค่าใกล้โซนแนวรับสำคัญใหม่ แถว 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์
อนึ่ง การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-34.00 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น