ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (11 ม.ค.66) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (11 ม.ค.66) ที่ระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์
“แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.52 บาทต่อดอลลาร์
 
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง เนื่องจากถ้อยแถลงของประธานเฟดในคืนก่อนหน้าไม่ได้มีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่ชัดเจน (เนื้อหาส่วนใหญ่พูดถึงความเป็นอิสระจากการเมืองของธนาคารกลาง) ทำให้ผู้เล่นในตลาดกล้าที่จะกลับเข้ามาซื้อหุ้นในกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เพื่อรอลุ้นรายงานเงินเฟ้อ CPI ในวันพฤหัสฯ (ตลาดประเมินว่าเงินเฟ้อจะชะลอลงต่อเนื่อง) หนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.01% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.70%
 
ส่วนในทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.59% ตามแรงขายทำกำไรของบรรดาผู้เล่นในตลาด หลังจากที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) Isabel Schnabel ยังคงออกมาส่งสัญญาณสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนกว่า ECB จะสามารถคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ ซึ่งท่าทีดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ ECB ได้กดดันให้หุ้นกลุ่มเทคฯและหุ้นสไตล์ Growth ในฝั่งยุโรปต่างย่อตัวลงบ้าง อาทิ Adyen -1.0%, ASML -0.7%
 
ทางด้านตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ระยะยาวโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นตามภาพตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงมุมมองของเจ้าหน้าที่ ECB ที่ยังคงออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในส่วนถ้อยแถลงของประธานเฟดจะไม่มีการกล่าวถึงแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม โดยล่าสุดบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 3.60% ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอไฮไลท์สำคัญอย่าง รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ทำให้ในระยะสั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 3.50% จนกว่าจะรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว
 
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 103.3 จุด ซึ่งเราประเมินว่า เงินดอลลาร์จะแกว่งตัว sideways หรืออาจอ่อนค่าลงได้เล็กน้อย หากตลาดเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอประเมินทิศทางดอกเบี้ยนโยบายเฟด จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ที่ชัดเจนอีกครั้ง อย่างไรก็ดี แม้ว่า เงินดอลลาร์จะยังคงทรงตัว และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) กลับสามารถทรงตัวใกล้โซนแนวต้านแถวระดับ 1,880 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ซึ่งเรามองว่า การเคลื่อนไหวของราคาทองคำดังกล่าว ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยเข้ามาขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจรอประเมินแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานในสหรัฐฯ ผ่านยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลัง รวมถึงยอดสต็อกน้ำมันกลั่นและเบนซิน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบ WTI ได้ในระยะสั้น โดยหากยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังลดลงมากกว่าคาด (สะท้อนถึงความต้องการใช้ที่สูงกว่าคาด) ก็อาจช่วยหนุนให้ราคาน้ำมันดิบรีบาวด์ขึ้นมาได้บ้าง
 
อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯ เป็นหลัก ทำให้การเคลื่อนไหวของตลาดโดยรวมอาจมีลักษณะแกว่งตัวในกรอบ Sideways
 
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ รวมถึงแรงซื้อสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น โดยมีจังหวะแข็งค่าแตะระดับ 33.33 บาทต่อดอลลาร์ในวันก่อน ซึ่งเรามองว่า เงินบาทก็ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหว sideways ต่อในวันนี้ จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ โดยแนวรับสำคัญยังคงเป็นโซน 33.30 บาทต่อดอลลาร์ ตามที่เราเคยได้ประเมินไว้ ส่วนโซนแนวต้านสำคัญจะอยู่ 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราเห็นผู้เล่นบางส่วนเข้ามาทยอยขายเงินดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติก็ยังคงเดินหน้าซื้อสินทรัพย์ไทยต่อเนื่องในช่วงนี้
 
อนึ่ง การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
 
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.60 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 ม.ค. 2566 เวลา : 10:30:42

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 4:13 am