ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (17 ม.ค.66) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 33.02 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (17 ม.ค.66) ที่ระดับ 33.02 บาทต่อดอลลาร์
“อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.99 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แม้ว่าปริมาณการซื้อ ขาย อาจเบาบางลง เนื่องจากตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ปิดทำการเนื่องในวันหยุด วัน Martin Luther King Jr. ทว่า บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ต่อเนื่อง โดยในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.46% ทำจุดสูงสุดในรอบ 9 เดือน ตามความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปที่ผู้เล่นในตลาดคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการกลับมาเปิดประเทศของจีน (China’s Reopening)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้รีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 102.3 จุด โดยส่วนหนึ่งอาจได้แรงหนุนจากการขายทำกำไรสถานะ Short USD vs สกุลเงินอื่นๆ ดังจะเห็นได้จากการที่เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาอ่อนค่าแตะระดับ 128.4 เยนต่อดอลลาร์ หลังจากที่ในช่วงก่อนหน้าเงินเยนญี่ปุ่นได้แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ในสัปดาห์นี้ ผู้เล่นในตลาดก็ต่างรอผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรก่อนรับรู้ผลการประชุมได้บ้าง นอกจากนี้ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึงการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ย่อตัวลงสู่ระดับ 1,915-1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มราคาทองคำ ทำให้อาจมีโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวเกิดขึ้นและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มผลกระทบของการระบาด COVID-19 ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ต่อภาพรวมเศรษฐกิจจีน โดยตลาดคาดว่า การระบาด COVID-19 ในช่วงปลายปีก่อนหน้า จะกดดันให้เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 4 ชะลอลงชัดเจน โดยเศรษฐกิจอาจขยายตัวเพียง +1.6%y/y ทำให้ทั้งปี เศรษฐกิจจีนอาจโตน้อยกว่า +3.0%y/y ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในเดือนธันวาคมก็อาจสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาหนัก อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) อาจหดตัวถึง -9%y/y และอัตราการว่างงาน (Jobless Rate) ก็อาจปรับตัวขึ้นแตะระดับ 5.8%

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดมองว่า ฤดูหนาวของยุโรปที่อุ่นกว่าปกติ ทำให้ปัญหาขาดแคลนพลังงานหรือวิกฤตพลังงานไม่ได้เลวร้ายมาก ซึ่งภาพดังกล่าวได้สะท้อนผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจยุโรปในช่วงที่ผ่านมาที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาดและตลาดก็คาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนมกราคม ก็อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -15 จุด จากระดับ -23.3 จุด ในเดือนธันวาคม สะท้อนมุมมองของบรรดานักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในฝั่งสหรัฐฯ อาทิ Goldman Sachs และ Morgan Stanley

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การผันผวนอ่อนค่าลงของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา หลังแข็งค่าแตะระดับ 32.71 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนหนึ่งมาจากการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ในช่วงระหว่างวัน โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และแรงขายทำกำไรสถานะ Short USDTHB ของผู้เล่นในตลาด อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า เงินบาทก็ไม่ได้อ่อนค่ารุนแรงต่อเนื่อง จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ ตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) มากขึ้น ทั้งนี้ เรามองว่า ในวันนี้ สกุลเงินฝั่งเอเชียอาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง หากตลาดเริ่มขายทำกำไรธีมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับความหวังการเปิดเมืองของจีน โดยเฉพาะในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจออกมาซบเซาหนักและแย่กว่าคาดไปมาก ซึ่งอาจเห็นแรงขายหุ้นจีนและหุ้นฮ่องกงออกมาบ้าง พร้อมกับการอ่อนค่าลงเล็กน้อยของเงินหยวน (CNY & CNH)

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า สกุลเงินเอเชียโดยรวมและเงินบาทจะไม่ได้อ่อนค่าไปมากและยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ sideways เพราะยังมีโอกาสที่สกุลเงินเอเชียอาจได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรปออกมาดีกว่าคาดและช่วยให้เงินยูโร (EUR) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.10 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ม.ค. 2566 เวลา : 10:12:27

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 3:15 pm