ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดเมื่อคืนนี้ (19 ม.ค.66) ดัชนีร่วงลงทุกตลาด โดยดัชนีดาวโจนส์ ร่วงลง 252.40 จุด หรือ 0.76% สู่ระดับ 33,044.56,ดัชนี S&P 500 ร่วง 30.01 จุด หรือ 0.76% สู่ระดับ 3,898.85 จุดและดัชนีแนสสแดค ร่วง 104.74 จุด หรือ 0.96% สู่ระดับ 10,852.27 จุด เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลมากขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป แม้จะมีสัญญาณบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวก็ตาม
ในสัปดาห์นี้ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงต่อเนื่อง 3.67% และเป็นสัปดาห์ที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ส่วน S&P 500 และแนสแดคลดลงมากกว่า 2% เมื่อเทียบเป็นรายสัปดาห์
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 15,000 ราย สู่ระดับ 190,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 214,000 ราย โดยตัวเลขดังกล่าวอยู่ต่ำกว่าระดับ 215,000 รายซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าเฟดพยายามคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อชะลอความร้อนแรงของตลาดแรงงานแล้วก็ตาม
เจ้าหน้าที่เฟดหลายคนซึ่งรวมถึงนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ นางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ และนางซูซาน คอลลินส์ ประธานเฟดสาขาบอสตัน ต่างก็ออกมาสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับสูงกว่า 5% เพื่อฉุดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมาย
ล่าสุด นายเจมี ไดมอน ซีอีโอของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส กล่าวในการประชุมเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ที่เมืองดาวอสเมื่อวานนี้ว่า เขาคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะดีดตัวสูงกว่า 5% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ในระดับสูง
ส่วนในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ในการประชุมเฟดครั้งหลังสุดเมื่อเดือนธ.ค.2565 เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2566 และจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 โดยเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสู่ระดับ 5.1% ในปี 2566 ก่อนที่จะสิ้นสุดวัฏจักรการปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งระดับดังกล่าวเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2550
ข่าวเด่น