ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดเมื่อคืนนี้ (26 ม.ค.66) ดัชนีดาวโจนส์ ปิดที่ 33,949.41 จุด เพิ่มขึ้น 205.57 จุด หรือ +0.61%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,060.43 จุด เพิ่มขึ้น 44.21 จุด หรือ +1.10% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,512.41 จุด เพิ่มขึ้น 199.06 จุด หรือ +1.76% ขานรับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐ ประจำไตรมาส 4/2565 สูงเกินคาด ทำให้ตลาดคลายความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย
โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการ GDP ไตรมาส 4/2565 ครั้งที่ 1 GDP ขยายตัว 2.9% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.8% หลังจากขยายตัว 3.2% ในไตรมาส 3 โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงสิ้นปี 2565
แครอล เชลฟ์ นักวิเคราะห์จากบริษัท BMO Family Office กล่าวว่า ตัวเลข GDP ที่ออกมาดีเกินคาดสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังแข็งแกร่งแม้ถูกกระทบจากการที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ตลาดขานรับข้อมูล GDP เพราะมองว่านี่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่านโยบายการเงินของเฟดทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นไป (ซอฟต์แลนดิ้ง) ไม่ใช่ถดถอยลง
นอกเหนือจากตัวเลข GDP แล้ว ตลาดยังขานรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ของสหรัฐที่ออกมาดีเกินคาด ซึ่งรวมถึงยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 2.3% สู่ระดับ 616,000 ยูนิตในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพุ่งขึ้น 5.6% ในเดือนธ.ค. ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.5%
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนธ.ค.ของสหรัฐในวันนี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค อีกทั้งมีความครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในสัปดาห์หน้า ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว
ข่าวเด่น