ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (8 ก.พ.66) ที่ระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.60 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน ก่อนที่จะพลิกกลับมาปรับตัวขึ้น โดยดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้นกว่า +1.90% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.29% หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่กล่าวไว้ในการประชุมเฟดล่าสุดมากนัก โดยประธานเฟดยังคงเน้นย้ำว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้นยังไม่จบลง โดยเฉพาะหลังจากข้อมูลการจ้างงานล่าสุดออกมาแข็งแกร่งกว่าคาด แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างแน่นอนในปีนี้ (จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยถึงระดับ 5.25% ก่อนจะปรับลดลงเพียง -0.25% ปลายปี)
ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ก็รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย +0.23% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นแรงของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ BP +8.0%, TotalEnergies +3.4% ตามการปรับตัวขึ้นแรงของราคาน้ำมันดิบ ท่ามกลางความกังวลภาวะตึงตัวของตลาดน้ำมันที่อาจเกิดขึ้น จากการปิดท่าเรือเจย์ฮันของตุรกี ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการขนส่งน้ำมันดิบ หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในตุรกีช่วงต้นสัปดาห์ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังคงได้แรงหนุนจากความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนจะช่วยหนุนความต้องการใช้พลังงาน
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของประธานเฟดยังคงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.68% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือน อีกครั้ง ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่ออีกได้บ้าง แต่เรามองว่า การปรับตัวขึ้นจะไม่รุนแรง ตามภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงนโยบายการเงินของเฟดที่ใกล้จะถึงจุดสูงสุดของการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนสามารถทยอยซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์มีการปรับตัวสูงขึ้นได้ เพื่อเพิ่มสถานะการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ในการเตรียมรับมือความผันผวนของตลาดการเงินในปีนี้
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนหนักเช่นกัน ก่อนที่จะอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังตลาดรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงสู่ระดับ 103.3 จุด ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด แต่จะเห็นได้ว่าเงินดอลลาร์ก็ไม่ได้อ่อนค่าลงแรง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด พร้อมทั้งรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ทั้งนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) สามารถรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับระยะสั้น สู่ระดับ 1,885 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่โดยรวมราคาทองคำยังไม่สามารถรปรับตัวขึ้นต่อได้มากนัก ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดและการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
สำหรับวันนี้ ในฝั่งเอเชีย ตลาดประเมินว่า แรงกดดันจากการอ่อนค่าลงล่าสุดของเงินรูปีอินเดีย (INR) ตามการไหลออกรุนแรงของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ จากความกังวลปัญหาของบริษัทในเครือ Adani รวมถึงอัตราเงินเฟ้อของอินเดียที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ไปมาก จะทำให้ RBI มีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +0.25% สู่ระดับ 6.50% ได้ในการประชุมครั้งนี้
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และทิศทางการปรับนโยบายการเงิน หลังข้อมูลตลาดแรงงานล่าสุดออกมาดีกว่าคาดไปมาก และล่าสุดประธานเฟดก็ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ซึ่งหากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดและประธานเฟดสอดคล้องกัน ก็อาจทำให้ตลาดเริ่มมั่นใจในแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้น ทำให้ประเด็นนโยบายการเงินอาจมีผลกระทบเชิงลบต่อตลาดการเงินลดลง และผู้เล่นในตลาดจะกลับมาให้ความสนใจและให้น้ำหนักต่อรายงานผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนมากขึ้น
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนั้นเป็นไปตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี เงินบาทยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนต่อได้ในวันนี้
โดยเราประเมินว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ sideways เพราะ แม้เงินบาทจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง หลังตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด ทว่า แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ในระยะสั้น โดยนักลงทุนต่างชาติอาจยังคงทยอยขายทำกำไรหุ้นและบอนด์ไทยต่อได้บ้าง (แต่แรงขายอาจเริ่มชะลอลง หลังนักลงทุนต่างชาติได้เดินหน้าขายสุทธิอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่มีมุมมองเชิงลบต่อเงินบาท รวมถึงผู้นำเข้าบางส่วนก็อาจรอจังหวะให้เงินบาทแข็งค่าลงมาบ้าง ในการเพิ่มสถานะ Long USDTHB หรือ ซื้อเงินดอลลาร์ ทำให้โซนแนวรับของเงินบาทอาจอยู่ในช่วง 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์
และถ้าหากไม่มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติม เราประเมินว่า ค่าเงินบาทอาจยังไม่อ่อนค่าทะลุแนวต้าน 33.75 ไปได้ในช่วงนี้ นอกจากนี้ เรายังคงเห็นโฟลว์ขายเงินดอลลาร์ต่อเนื่องจากฝั่งผู้ส่งออก หลังเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่า ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง
ทั้งนี้ ความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.60 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น