ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (9 ก.พ.66) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 33.52 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (9 ก.พ.66) ที่ระดับ 33.52 บาทต่อดอลลาร์
“อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง หลังบรรดาหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ปรับตัวลงแรง นำโดย Alphabet (Google) ที่ปรับตัวลง -7.7% หลังจากที่ “Bard” ซึ่งเป็น AI Chatbot ตัวล่าสุดของทางบริษัทได้ให้คำตอบที่ผิดพลาดในงานเปิดตัว นอกจากนี้ บรรดาหุ้นเทคฯ ยังถูกกดดันจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด พร้อมกับย้ำจุดยืนว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงได้นาน เพื่อให้มั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวกลับสู่เป้าหมายได้สำเร็จ ขณะเดียวกัน ความกังวลแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่อาจออกมาแย่กว่าคาด (ตลาดประเมินผลกำไรในไตรมาสที่ 4 ของบรรดาบริษัทบน S&P500 อาจลดลงไม่น้อยกว่า -3%y/y ) ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงนี้ ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -1.68% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.11%

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 สามารถปรับตัวขึ้นต่อราว +0.28% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงาน อาทิ Neste (โรงกลั่นน้ำมันของฟินแลนด์) +10.6%, Equinor +6.9% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปก็ไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อไปได้มากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจากบรรดาธนาคารกลางหลัก ตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดและเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ยังคงสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่า ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จะส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.68% ในช่วงแรก แต่ทว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินได้หนุนให้ผู้เล่นบางส่วนกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะยีลด์ปรับตัวขึ้น (ส่วนหนึ่งอาจมองว่า การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักมากขึ้น) ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 3.60% สอดคล้องกับมุมมองเดิมของเราที่มองว่า นักลงทุนสามารถทยอยซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์มีการปรับตัวสูงขึ้นได้ เพื่อเพิ่มสถานะการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ในการเตรียมรับมือความผันผวนของตลาดการเงินในปีนี้

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยและคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากความต้องการถือในช่วงตลาดผันผวน ส่งผลให้ ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.5 จุด ที่น่าสนใจ คือ แม้ว่าตลาดจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงและบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวลดลง แต่ทว่า ราคาทองคำยังคงถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ส่งผลให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,885 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอาจไม่มีมากนัก อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก และ การว่างงานต่อเนื่อง เพื่อประเมินภาพรวมตลาดแรงงานสหรัฐฯ เพราะหากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว ก็อาจทำให้ อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงได้ช้า กดดันให้เฟดจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้

นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิด หลังตลาดได้รับรู้แนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปแล้วพอสมควร ทำให้ประเด็นผลกำไรบริษัทจดทะเบียนจะมีผลกับตลาดมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์และการย่อตัวลงมีส่วนทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย แต่จะเห็นได้ว่า การอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มชะลอลงบ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งเรามองว่า มาจากการที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วน อาทิ ผู้ส่งออกได้ทยอยขายเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะแรงขายบอนด์ก็เริ่มชะลอลง หลังจากที่ช่วงก่อนหน้า นักลงทุนต่างชาติได้ขายบอนด์ไทยสุทธิเฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท (ล่าสุดกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิราว 1.1 พันล้านบาท)

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า หากยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระทบตลาดการเงิน ค่าเงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหว sideways ในกรอบใหม่ โดยมีแนวต้านสำคัญในโซน 33.60-33.70 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่ แนวรับสำคัญ จะอยู่ในช่วง 33.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรามองว่า เงินบาทมีโอกาสที่จะแกว่งตัวเหนือโซนแนวรับได้ต่อ เพราะผู้เล่นในตลาดเริ่มมีการปรับสถานะมาเป็นฝั่งที่มองว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อ หรือ เปลี่ยนจากฝั่ง Short USDTHB มาเป็นฝั่ง Long USDTHB มากขึ้น

ทั้งนี้ ความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.65 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : วันที่ : 09 ก.พ. 2566 เวลา : 10:32:37

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:43 am