ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (14 ก.พ.66) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 33.79 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (14 ก.พ.66) ที่ระดับ 33.79 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.87 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.48% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.14% หนุนโดยแรงซื้อหุ้นในจังหวะย่อตัว โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ อาทิ Microsoft +3.1% ซึ่งจะคงได้แรงหนุนจากความหวังว่า Search Engine “Bing” ที่มีฟีเจอร์ AI ChatGPT อาจแย่งส่วนแบ่งการตลาดจาก Search Engine Google ได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็มองว่า รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่จะประกาศในวันนี้ อาจชะลอลงต่อเนื่อง ทำให้เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยไปไกลกว่าที่ตลาดคาดหวัง (ตลาดมองจุดสูงสุดดอกเบี้ยเฟดแถว 5.25%-5.50%)

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 เดินหน้าปรับตัวขึ้น +0.90% หนุนโดยความหวังภาพเศรษฐกิจยูโรโซนอาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้ หลังล่าสุดคณะกรรมธิการยุโรป (EC) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจยูโรโซนดีขึ้นในปีนี้ ซึ่งมุมมองดังกล่าวทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสเศรษฐกิจยุโรปเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในอีก 12 เดือนข้างหน้า เหลือเพียง 57% (Bloomberg Consensus) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรป ยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันนี้ ทำให้โดยรวมบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหว sideways ใกล้ระดับ 3.71% ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด หรือ ชะลอลงมากกว่าคาด ตลาดก็อาจคลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดได้บ้าง ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงได้ราว -10bps (ค่าเฉลี่ยในช่วงที่มีรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ชะลอมากกว่าคาด) ทว่า หากอัตราเงินเฟ้อ CPI กลับไม่ได้ชะลอลงตามคาด หรือ ออกมาสูงกว่าคาด บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นได้ไม่เกิน +10bps เนื่องจากตลาดได้ทยอยรับรู้แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยเฟดไปพอสมควรแล้ว หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นได้แรง อาจต้องมีปัจจัยอื่นหนุนในวันเดียวกัน
 
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงใกล้ระดับ 103.3 จุด ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างคาดหวังว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) สู่ระดับ 1.073 ดอลลาร์ต่อยูโร ตามภาพเศรษฐกิจยูโรโซนที่อาจไม่ได้แย่อย่างที่ตลาดเคยกังวล ทั้งนี้ แม้ว่า เงินดอลลาร์จะย่อตัวลงบ้าง แต่บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาด และท่าทีของผู้เล่นในตลาดที่ต่างรอรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI กลับทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,865 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม คือ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนมกราคม โดยเราประเมินว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ โดยเฉพาะในกรณีที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ยังคงขยายตัวไม่น้อยกว่า +0.4% จากเดือนก่อนหน้า (คิดเป็นระดับ 6.4% และ 5.6% เมื่อเทียบจากปีก่อน ตามลำดับ) ตามที่บรรดานักวิเคราะห์ประเมินไว้ ก็อาจสะท้อนว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ แม้จะชะลอตัวลง (ตามที่ประธานเฟดได้ระบุในการประชุมเฟดและในสัปดาห์ก่อนหน้า) แต่ก็อาจไม่ได้ชะลอเร็วนัก โดยเฉพาะหากตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว หนุนให้อัตราเงินเฟ้อในส่วนภาคการบริการ (Core Services ex. Shelter) ชะลอตัวช้า ซึ่งในกรณีนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจกลับมากังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และอาจเริ่มมองว่า เฟดมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง จนแตะระดับสูงสุดที่มากกว่าระดับ 5.25%-5.50% ซึ่งตลาดมองไว้ล่าสุด ) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อและการปรับนโยบายการเงินเฟด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมานั้นทยอยออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาด รวมถึงนักวิเคราะห์บางส่วนเริ่มมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ได้ชะลอตัวลงหนัก จนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในปีนี้

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานข้อมูลการจ้างงานอังกฤษ ที่ตลาดประเมินว่า จะยังคงสะท้อนภาพตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและตึงตัว โดยหาก ค่าจ้างยังคงขยายตัวกว่า +6.5% ก็อาจสะท้อนว่า อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษอาจชะลอตัวช้ากว่าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คาดหวัง ทำให้ BOE อาจจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ส่วนในฝั่งยูโรโซน ตลาดมองว่า เศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 4 อาจขยายตัวเพียง +1.9%y/y กดดันโดยภาวะเงินเฟ้อสูง อย่างไรก็ดี วิกฤตพลังงานที่ไม่ได้รุนแรงอย่างที่กังวล รวมถึงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพจากภาครัฐในหลายประเทศก็ช่วยให้เศรษฐกิจยูโรโซนไม่ได้ชะลอตัวลงหนัก

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ก็พอช่วยหนุนให้เงินบาทสามารถเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ

ทั้งนี้ เราประเมินว่า เงินบาทอาจมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามบรรยากาศของตลาดการเงินที่พลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อีกทั้งในช่วงแรกราว 14.00 น. จนถึง 17.00 น. รายงานข้อมูลเศรษฐกิจของอังกฤษและยูโรโซน ก็อาจออกมาสดใสและช่วยหนุนให้เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์ (GBP) แข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรืออย่างน้อยแกว่งตัว sideways ซึ่งก็อาจพอช่วยหนุนเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าไปมากได้

นอกจากนี้ เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังไม่รีบปรับสถานะการถือครอง ก่อนจะรับรู้รายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้ความเคลื่อนไหวในตลาดการเงินจะกลับมาผันผวนสูงในช่วงราว 20.30 น. ที่ตลาดจะทยอยรับรู้ข้อมูลดังกล่าว ซึ่งเรามองว่า หากตลาดจะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้ อาจต้องเห็นอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI เพิ่มขึ้นไม่ถึง +0.3%m/m พร้อมกับ สัญญาณการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในส่วนภาคการบริการที่ไม่รวมที่พักอาศัย (Core Services ex. Shelter) ซึ่งในกรณีนี้ เงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่าลงต่อเนื่อง และเราอาจเห็นเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับแรกแถว 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ได้ อย่างไรก็ดี หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI เพิ่มขึ้นมากกว่า +0.4%m/m ตามที่ตลาดประเมินไว้ และหรือ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในส่วนภาคการบริการที่ไม่รวมที่พักอาศัย กลับไม่ได้ส่งสัญญาณชะลอลง เรามองว่า ตลาดอาจพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง จากความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้ เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นต่อ และเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้

อนึ่ง ความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.55-33.95 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ก.พ. 2566 เวลา : 10:20:03

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:43 am