ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (15 ก.พ.66) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 33.90 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (15 ก.พ.66) ที่ระดับ 33.90 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.82 บาทต่อดอลลาร์
 
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยดัชนี Dowjones ปรับตัวลงราว -0.46% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.03% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเฟดอาจจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนมกราคม กลับไม่ได้ชะลอลงตามที่ผู้เล่นในตลาดคาดหวัง โดย อัตราเงินเฟ้อทั่วไป Headline CPI ชะลอลงเล็กน้อยสู่ระดับ 6.4% (ตลาดคาด 6.2%) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน Core CPI ก็ชะลอลงไม่มากสู่ระดับ 5.6% (ตลาดคาด 5.5%) ซึ่งภาพดังกล่าวทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดมีโอกาสราว 52% ที่จะขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.50% ในการประชุมเดือนมิถุนายน สูงขึ้นจากโอกาสเพียง 36% ในสัปดาห์ก่อนหน้า (ข้อมูลจาก CME FedWatch Tool)
 
ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 เคลื่อนไหวผันผวนเช่นกัน ก่อนที่จะปิดตลาด +0.08% โดยตลาดหุ้นยุโรปยังคงเผชิญแรงกดดันจากความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักอยู่ โดยเฉพาะหลังจาก รายงานข้อมูลการจ้างงานในฝั่งอังกฤษ และฝั่งยูโรโซนได้สะท้อนภาพตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและตึงตัว รวมถึงภาพอัตราเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ชะลอลงอย่างที่ตลาดคาดหวัง อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรป ยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด
 
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับมุมมองว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจต้องดำเนินต่อไปจนอาจแตะจุดสูงสุดที่ 5.50% หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจนอย่างที่คาดหวัง ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 3.75% ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงรอซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะย่อตัว ทำให้การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ได้รุนแรงมาก หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดและหนุนโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง
 
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน ก่อนที่จะปรับตัวแข็งค่าขึ้นเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.3 จุด ตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดหวังการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอลงอย่างที่ตลาดคาดหวัง นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) แกว่งตัวผันผวนหนัก ก่อนที่จะย่อตัวลงใกล้ระดับ 1,864 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ในจังหวะที่ราคาทองคำย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับแถว 1,850-1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้ามาซื้ออยู่บ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้างเช่นกัน
 
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมกราคม โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ยอดค้าปลีกอาจขยายตัวราว +1.8% จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงแนวโน้มการบริโภคในฝั่งสหรัฐฯ ที่ยังคงดีอยู่ สอดคล้องกับสภาวะตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและตึงตัว อนึ่ง เราคงมองว่า ธีมของตลาดอาจยังเป็น “Very good economic data = Bad news for the market” หรือ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดมาก ก็อาจทำให้ตลาดกังวลว่าเฟดยังไม่มีเหตุผลที่จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย หรือ หยุดขึ้นดอกเบี้ยได้ง่ายๆ ซึ่งมุมมองดังกล่าวก็อาจกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินได้
 
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา อัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ ในเดือนมกราคม โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป Headline CPI ของอังกฤษ ในเดือนมกราคม อาจชะลอลงสู่ระดับ 10.2% อย่างไรก็ดี แม้ว่า อัตราเงินเฟ้ออาจชะลอลงได้บ้าง แต่รายงานข้อมูลการจ้างงานอังกฤษในวันก่อนหน้าที่ยังคงสะท้อนภาพตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและตึงตัว ก็อาจชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษมีโอกาสชะลอตัวช้ากว่าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คาดหวัง ทำให้ BOE อาจจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะถ้อยแถลงของประธาน ECB Christine Lagarde เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของ ECB
 
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทนั้นมาจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว โดยเฉพาะในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ
 
ทั้งนี้ เราประเมินว่า แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อค่าเงินบาทจะยังคงมีอยู่ ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดการเงิน ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเดินหน้าขายสุทธิสินทรัพย์ไทย ทั้งหุ้นและบอนด์ อย่างต่อเนื่องได้ กอปรกับในเชิงเทคนิคัล เงินบาทได้อ่อนค่าทะลุเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน (สัญญาณ RSI และ MACD ต่างก็ชี้โอกาสอ่อนค่าต่อ) ทำให้ในระยะสั้น ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าต่อจนทดสอบโซนแนวต้านสำคัญแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราเคยประเมินไว้ได้ ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า เงินบาทจะอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะหากเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องทะลุระดับดังกล่าวได้จริง ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วน อย่าง ผู้ส่งออก มีการปรับแผนไม่รีบขายเงินดอลลาร์และอาจไปรอทยอยขายดอลลาร์ในช่วงสูงกว่า 34.00 บาทต่อดอลลาร์ เช่น 34.20 บาทต่อดอลลาร์
 
อนึ่ง ความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
 
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-34.00 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ก.พ. 2566 เวลา : 11:15:08

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 7:19 pm