ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (16 ก.พ.66) ที่ระดับ 34.23 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.31 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) สหรัฐฯ ในเดือนมกราคม ที่ขยายตัว +3.0% จากเดือนก่อนหน้า ดีกว่าที่ตลาดคาด ได้หนุนให้ ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก ทำให้บรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ส่งผลให้ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.28% อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกจำกัดด้วย ความกังวลแนวโน้มเฟดอาจจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใส ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 3.80% ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงรอซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะย่อตัว ทำให้การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ได้รุนแรงมาก หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดและหนุนโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.8 จุด (ในระหว่างวัน แตะจุดสูงสุดเหนือระดับ 104 จุด ก่อนย่อตัวลงมาบ้าง) ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด ทั้งนี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้กดดันไม่ให้ เงินดอลลาร์แข็งค่าไปได้ไกลนัก ซึ่งสะท้อนมุมมองของผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่รอทยอยขายทำกำไรการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ (Sell on Rally) ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ย่อตัวลงต่อเนื่อง ก่อนที่จะแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 1,848 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ในจังหวะที่ราคาทองคำย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับแถว 1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้ามาซื้ออยู่บ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้างเช่นกัน
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก และว่างงานต่อเนื่อง (Initial Jobless Claims & Continuing Jobless Claims) โดยเราคงมองว่า ธีมของตลาดอาจยังเป็น “Very good economic data = Bad news for the market” หรือ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดมาก ก็อาจทำให้ตลาดกังวลว่าเฟดยังไม่มีเหตุผลที่จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย หรือ หยุดขึ้นดอกเบี้ยได้ง่ายๆ ซึ่งมุมมองดังกล่าวก็อาจกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินได้ อย่างที่ตลาดการเงิน โดยเฉพาะในฝั่งตลาดค่าเงินและตลาดบอนด์เผชิญมาโดยตลอดในสัปดาห์นี้
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของ ECB และเฟด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของทั้งฝั่งยูโรโซนและสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ต่างออกมาดีกว่าคาดเป็นส่วนใหญ่
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทจนเดือบแตะระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงคืนที่ผ่านมา นั้นมาจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว โดยเฉพาะในช่วงราคาย่อตัวใกล้โซนแนวรับสำคัญ นอกจากนี้ ฟันด์โฟลส์นักลงทุนต่างชาติยังเป็นฝั่งขายสุทธิ (ยกเว้นหุ้น ที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิ)
ทั้งนี้ เราประเมินว่า แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อค่าเงินบาทจะยังคงมีอยู่ ท่ามกลางธีม "แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยเฟดยังไม่จบง่ายๆ" แต่ "การขึ้นดอกเบี้ยของไทยอาจใกล้จบแล้ว" นอกจากนี้ การอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านสำคัญของเงินบาท ทำให้ในเชิงเทคนิคัล ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าต่อจนทดสอบโซนแนวต้านถัดไปแถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ ผู้เล่นในตลาดที่ปรับสถานะมาเป็นฝั่ง Long USDTHB (มองเงินบาทอ่อนค่า) อาจรอจังหวะ ขายทำกำไรแถว 34.75-35.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ทำให้ ค่าเงินบาทในช่วงนี้ มีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้มาก
อนึ่ง ความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.15-34.50 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น