ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (21 ก.พ.66) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 34.36 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (21 ก.พ.66) ที่ระดับ 34.36 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.42 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ปิดทำการเนื่องในวันหยุด President’s Day ทำให้ปริมาณการซื้อขายในตลาดการเงินอาจเบาบางลง ทว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (S&P Global Manufacturing & Services PMIs) ในวันนี้ รวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย +0.07% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (Mining) อาทิ Anglo American +4.0% ตามการปรับตัวขึ้นของราคาโลหะพื้นฐาน ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของบรรดาธนาคารกลางหลัก ทำให้หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ยังคงปรับตัวลดลง (Amadeus IT -2.0%, ASML -1.1%)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เนื่องจากปริมาณการทำธุรกรรมที่เบาบางในช่วงวันหยุดของฝั่งสหรัฐฯ ทำให้เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ Sideways โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 103.9 จุด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงคาดหวังการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ปริมาณธุรกรรมในตลาดที่เบาบางเนื่องจากวันหยุดในฝั่งสหรัฐฯ ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) แกว่งตัว Sideways ในกรอบใกล้ระดับ 1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก ทั้งในฝั่งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการในเดือนกุมภาพันธ์ โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ดัชนี PMI ทั้งภาคการผลิตและภาคการบริการของบรรดาเศรษฐกิจหลัก มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ท่ามกลางการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ยังคงสดใส โดยเฉพาะในฝั่งการจ้างงานที่ยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี หากรายงานดัชนี PMI ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใสและไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจนอย่างที่ตลาดเคยประเมินก่อนหน้า

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งมาจากการย่อตัวลงเล็กน้อยของเงินดอลลาร์ แต่โดยรวมจะเห็นได้ว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงต้องการถือเงินดอลลาร์อยู่ ในช่วงที่ตลาดกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

เราประเมินว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินต่างรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และภาพอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ (ในช่วงวันศุกร์นี้) เงินบาทอาจผันผวน sideways ในกรอบ 34.25-34.60 บาทต่อดอลลาร์ไปก่อน นอกจากนี้ เรามองว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติที่ยังมีอยู่ ก็อาจทำให้เงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าไปมากกว่าโซนแนวรับที่เราประเมินไว้ได้

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในตลาดค่าเงิน โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ของเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะในฝั่งยูโรโซน (หากข้อมูลดีกว่าคาดก็อาจหนุนให้ เงินยูโรแข็งค่าขึ้นได้บ้าง) และฝั่งสหรัฐฯ โดยรายงานดัชนี PMI ของสหรัฐฯ นั้นจะมีในช่วง 21.45 น. ตามเวลาในประเทศไทย ทำให้เงินบาทอาจผันผวนได้พอควรและมีโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่อาจมาพร้อมกับการย่อตัวลงบ้างของราคาทองคำ (ราคาทองคำยังคงมีผลต่อทิศทางเงินบาทพอสมควร) หากดัชนี PMI สหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 3 ครั้ง (ครั้งละ +0.25%)

อนึ่ง ความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.25-34.50 บาท/ดอลลาร์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ก.พ. 2566 เวลา : 09:43:22

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:03 pm