ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (22 ก.พ.66) ที่ระดับ 34.66 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.56 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด หลังจากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการในเดือนกุมภาพันธ์ ออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใส นอกจากนี้ ความกังวลดังกล่าวได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นแตะระดับ 3.95% (สูงสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนปีก่อนหน้า) สร้างแรงกดดันต่อหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ growth ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงแรง -2.50% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -2.00%
ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 เคลื่อนไหวผันผวน ก็ที่จะปิดตลาด -0.19% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของฝั่งยุโรป รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (Zew Survey) นั้นออกมาดีกว่าคาด ทำให้หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ยังคงปรับตัวลดลง (Adyen -2.1%, ASML -1.1%)
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะย่อตัวลงบ้าง จากการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์ (GBP) ตามการรายงานดัชนี PMI ฝั่งยุโรปที่ออกมาดีกว่าคาด (สอดคล้องกับสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้) ก่อนที่เงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด (จาก CME FedWatch Tool ตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสราว 28% ที่จะขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.75% สูงขึ้นจาก 19% ในสัปดาห์ก่อนหน้า) นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven asset) ท่ามกลางความกังวลว่ารัสเซียอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการทำสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.2 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ยังไม่สามารถผ่านโซน 1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และย่อตัวลงมาแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,844 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เราคาดว่า การย่อตัวลงของราคาทองคำที่ไม่รุนแรงมาก สะท้อนแรงซื้อในจังหวะย่อตัวของผู้เล่นในตลาด ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอาจมีไม่มากนัก ทว่าในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจเยอรมนี ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งตลาดคาดว่า จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 91.4 จุด สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้น หลังความกังวลวิกฤตพลังงานในฝั่งยุโรปคลี่คลายลงต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ ราว 2.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนต่อได้ หากรายงานการประชุมสะท้อนแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด อย่างที่ตลาดกังวล
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ รวมถึงรายงานการประชุมเฟดดังกล่าว เรามองว่า ในระยะสั้น ควรจับตาสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจกลับมาร้อนแรงได้ (รัสเซียอาจเปิดฉากบุกโจมตียูเครนครั้งใหญ่อีกรอบ)
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว คือ ปัจจัยที่กดดันให้ เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ซึ่งเราประเมินว่า หากตลาดยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากปัจจัยความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เงินบาทก็เสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซนแนวต้านแถว 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ได้ ทำให้ ต้องจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ว่ายังคงขายสุทธิสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่องหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนของฟันด์โฟลว์ในฝั่งตลาดหุ้น ซึ่งอาจได้รับอานิสงส์จากข่าวการเลือกตั้งได้บ้าง
ในระยะสั้น เรามองว่า ปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลต่อเงินบาทในช่วงที่เหลือของสัปดาห์นี้ คือ รายงานการประชุมเฟดล่าสุด, รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ และความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
อย่างไรก็ดี แม้เราประเมินว่า เงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านดังกล่าวได้ ทว่า เราเริ่มเห็นสัญญาณการขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาดที่เป็นฝั่ง Long USDTHB (เชื่อว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง) โดยเฉพาะในช่วงโซน 34.70-34.75 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ ในมุมมองของผู้เล่นในตลาดก็อาจไมอยากเพิ่มสถานะดังกล่าวมากขึ้น เนื่องจาก Risk-Reward อาจเริ่มไม่คุ้ม ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้ จะไม่รุนแรง ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้เผชิญปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าใหม่ๆ นอกเหนือจากสิ่งที่ตลาดกำลังกังวล
อนึ่ง ความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.80 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น