ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดเมื่อคืนนี้ (21 ก.พ.66) ร่วงแรง โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,129.59 จุด ร่วงลง 697.10 จุด หรือ -2.06%,ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,997.34 จุด ลดลง 81.75 จุด หรือ -2.00% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,492.30 จุด ดิ่งลง 294.97 จุด หรือ -2.50% เนื่องจากนักลงทุนกังวลข้อมูลที่บ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของกิจกรรมทางธุรกิจในสหรัฐจะผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นเวลานานขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดย เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นเดือนก.พ.ของสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 50.2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน จากระดับ 46.8 ในเดือนม.ค. โดยดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐมีการขยายตัว
โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 3 ครั้งในปีนี้ สู่ระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50% ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ FedWatch Tool ของ CME Group ซึ่งบ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค., พ.ค. และมิ.ย. ครั้งละ 0.25% สู่ระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50% และตรึงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ระดับดังกล่าว ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนธ.ค.
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังถูกกดดันจากผลประกอบการที่อ่อนแอของบริษัทค้าปลีก โดย โฮม ดีโปท์ ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายสินค้าตกแต่งบ้านรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ เปิดเผยว่า บริษัทมีรายได้ในไตรมาส 4/2565 อยู่ที่ 3.583 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.597 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นโฮม ดีโปท์ ปิดตลาด ร่วงลง 7.06%
รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน ที่ระดับ 3.95% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย. 2565 เมื่อคืนนี้ ยังเป็นปัจจัยฉุดหุ้นเติบโต (Growth Stocks) ซึ่งเป็นหุ้นที่มีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย อีกทั้งต้องพึ่งพาผลกำไรและการเติบโตในอนาคต และหุ้นบริษัทเทคโนโลยีที่มีทุนจดทะเบียนสูง ดิ่งลงและส่งผลถึงภาพรวมตลาด โดยหุ้นอัลฟาเบท ดิ่งลง 2.71% หุ้นแอปเปิ้ล ร่วงลง 2.67% หุ้นอะเมซอน ร่วงลง 2.7% หุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลง 2.09% หุ้นเน็ตฟลิกซ์ ร่วงลง 3.01% หุ้นอินวิเดีย ดิ่งลง 3.43%
วันนี้ (22 ก.พ.) ตามเวลาสหรัฐ นักลงทุนจับตาการเปิดเผยรายงานการประชุมเฟดประจำวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. รวมทั้งดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนม.ค.ในวันศุกร์ที่ 24 ก.พ. เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ข่าวเด่น