ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (23 ก.พ.66) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 34.66 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (23 ก.พ.66) ที่ระดับ 34.66 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า รายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ยังคงสะท้อนถึงจุดยืนและความมุ่งมั่นของเฟดในการคุมปัญหาเงินเฟ้อ ด้วยการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง (โดยมีคณะกรรมการเฟดบางท่านยังคงสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50%) ซึ่งท่าทีดังกล่าวของเฟด แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยรับรู้ แต่ก็ยังคงกดดันให้ ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ส่งผลให้ ดัชนี S&P500 เคลื่อนไหวผันผวน ก่อนที่จะปิดตลาด -0.16%

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงปรับตัวลดลงต่อราว -0.33% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของบรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้งเฟดและธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งความกังวลดังกล่าว ยังคงกดดันให้หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง (Adyen -2.7%, ASML -0.7%) ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Diageo +3.0%, Hermes +1.0%) ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งยังคงสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จากรายงานการประชุมเฟดล่าสุด นั้นไม่ได้แตกต่างไปจากสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้ ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัว sideways และย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 3.92% อนึ่ง เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นเป็นไปตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนแตะระดับ 5.50% หรือสูงกว่านั้น ทำให้เราประเมินว่า ในระยะถัดไป แม้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ แต่ก็อาจจะไม่รุนแรง ยกเว้นตลาดกังวลการ “เร่งขึ้น” ดอกเบี้ยของเฟด หรือมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า จังหวะบอนด์ยีลด์ ปรับตัวสูงขึ้น จะเปิดโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ (Buy on Dip)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดและความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven asset) โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.5 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ จากแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ยังไม่สามารถผ่านโซน 1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะย่อตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,832 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เราคาดว่า การย่อตัวลงของราคาทองคำจะยังคงหนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial & Continuing Jobless Claims) ซึ่งจะช่วยสะท้อนภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดว่าจะขึ้นไปถึงระดับใด

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดดังกล่าว เรามองว่า ในระยะสั้น ควรจับตาสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจกลับมาร้อนแรงได้ (รัสเซียอาจเปิดฉากบุกโจมตียูเครนครั้งใหญ่อีกรอบ)

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทยังคงมาจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวและแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเราประเมินว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าดังกล่าวจะยังคงมีอยู่ในระยะสั้นนี้ (อย่างน้อยจนกว่าตลาดจะเลิกหรือคลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด) ทำให้ เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัว sideways และอาจเข้าใกล้โซนแนวต้าน 34.70-34.75 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนราคาที่ ผู้เล่นในตลาดบางส่วน ที่เป็นฝั่ง Long USDTHB (เชื่อว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง) รอทยอยขายทำกำไรอยู่

นอกจากนี้ เรามองว่า หากไม่มีปัจจัยเพิ่มเติม เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งคาดว่าจะเห็นการเคลื่อนไหวของตลาดค่าเงินที่ชัดเจนมากขึ้น หลังตลาดทยอยรับรู้อัตราเงินเฟ้อ PCE อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น เรามองว่า ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มองข้ามไม่ได้และอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินในช่วงนี้ได้

อนึ่ง ความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.75 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ก.พ. 2566 เวลา : 10:27:38

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:11 am