ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (1 มี.ค.66)ที่ระดับ 35.25 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.34 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนในช่วงวันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนจะปรับตัวลดลง โดย ดัชนี S&P500 ย่อตัวลง -0.30% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด ทำให้บรรดาหุ้นขนาดใหญ่ของดัชนี S&P500 ยังคงแกว่งตัว sideways หรือย่อตัวลงเล็กน้อย อาทิ Nvidia -1.2%, Apple -0.3%, Amazon +0.5%
ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 กลับมาย่อตัวลง -0.32% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI ในฝั่งฝรั่งเศสและสเปนต่างเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 6.2% และ 6.1% ตามลำดับ เพิ่มโอกาสที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซนโดยรวมยังคงอยู่ในระดับสูงมากในช่วงนี้ ซึ่งภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า ECB อาจเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Deposit Facility Rate จนแตะระดับราว 3.80% (ระดับล่าสุด 2.50%) ได้ในช่วงสิ้นปี
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงเคลื่อนไหวผันผวน sideways โดยมีบางช่วงที่ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 3.97% อีกครั้ง ทว่าภาพรวมตลาดการเงินที่ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง รวมถึงแรงซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะย่อตัวได้มีส่วนทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 3.94% สอดคล้องกับมุมมองของเรา ที่คงมองว่า จังหวะบอนด์ยีลด์ ปรับตัวสูงขึ้น จะเปิดโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ (Buy on Dip)
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ฝรั่งเศสและสเปนออกมาสูงกว่าคาด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็พลิกกลับมารีบาวด์ขึ้นและกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 105 จุด อีกครั้ง ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับของราคาทองคำ ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนได้ทยอยกลับเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว นอกจากนี้ ผู้เล่นบางส่วนยังได้เข้ามาซื้อทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ (Inflation-Hedge) หลังภาพอัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจหลักยังอยู่ในระดับสูง ทำให้แม้ว่า เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นมาบ้าง แต่โดยรวม ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ก็สามารถรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับ มาสู่ระดับ 1,831 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ อนึ่งการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว อาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนที่ทยอยสะสมในโซนแนวรับ เริ่มขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำบ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจมีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมา/ชะลอการอ่อนค่าลงได้
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังการผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีน ทั้งในภาคการผลิตและภาคการบริการมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ระดับ 50.2 จุด และ 53.5 จุด ตามลำดับ
นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนกุมภาพันธ์ โดยตลาดมองว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจปรับตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าสู่ระดับ 48 จุด แต่ยังคงสะท้อนสภาวะหดตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ อยู่ อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแรงกดดันเงินเฟ้อผ่านดัชนีด้านราคาในรายงานดัชนี PMI รวมถึงภาวะการจ้างงานในภาคการผลิตจากดัชนีด้านการจ้างงานในรายงานดัชนี PMI
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากแรงขายทำกำไรของผู้เล่นบางส่วน หลังเงินบาทได้อ่อนค่าแรงในช่วงวันก่อนหน้าจนแตะระดับ 35.35 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ แรงขายเงินดอลลาร์ของฝั่งผู้ส่งออก รวมถึงการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทและหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง
ทั้งนี้ แม้เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ ทำให้ เรามองว่า เงินบาทจะยังคงไม่กลับตัวมาเป็นฝั่งแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องอย่างชัดเจนและยังคงแกว่งตัว Sideways Up โดยเฉพาะหลังเงินบาทอ่อนค่าทะลุกรอบแนวต้านที่เราประเมินไว้ ทำให้โซนแนวต้านถัดไปจะถูกขยับขึ้นมาเป็นแถว 35.50 บาทต่อดอลลาร์ อนึ่ง เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในตลาดค่าเงิน โดยเฉพาะในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี ISM PMI สหรัฐฯ เพราะหากดัชนี ISM PMI สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น ดีกว่าคาด ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อได้ ตามภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใส แต่หากออกมาลดลง แย่กว่าคาด ผู้เล่นในตลาดอาจปรับลดมุมมองเชิงบวกต่อภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลงได้บ้าง ซึ่งอาจเห็นการย่อตัวของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวขึ้นต่อของราคาทองคำได้ โดยในกรณีดังกล่าว ค่าเงินบาทก็มีโอกาสพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่อาจยังไม่หลุดแนวรับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์
ในช่วงนี้ จะเห็นได้ว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.15-35.40 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น