ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (13 มี.ค.66) แข็งค่าขึ้นมาก ที่ระดับ 34.62 บาทต่อดอลลาร์



 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (13 มี.ค.66) ที่ระดับ 34.62 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.02 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% หลังธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ถูกสั่งปิดจากปัญหาสภาพคล่อง และรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ดีกว่าคาดชัดเจน

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ตลาดการเงินมีแนวโน้มผันผวนสูง ท่ามกลาง ความกังวลความเสี่ยงต่อระบบธนาคารสหรัฐฯ หลังธนาคาร SVB ถูกสั่งปิดกิจการ และควรระวัง ช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

? ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลกระทบจากการปิดตัวลงของธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ว่าจะส่งผลต่อระบบธนาคารสหรัฐฯ อย่างไร และทางการสหรัฐฯ รวมถึงเฟดจะมีวิธีการรับมืออย่างไร เนื่องจากการปิดตัวลงของ SVB จากปัญหาสภาพคล่อง ถือว่าเป็นการสั่งปิดธนาคารที่ใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2008 นอกจากนี้ ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น และรายงานข้อมูลตลาดแรงงานในสัปดาห์ก่อนหน้าที่ออกมาผสมผสาน ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับลดโอกาสที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% ในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ พร้อมกับเริ่มมองว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนแตะระดับสูงสุดไม่เกิน 5.50% ก่อนที่จะทยอยลดลงสู่ระดับ 5.00% ในช่วงปลายปี อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรรอประเมินสถานการณ์โดยรวม และรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดว่า โมเมนตัมของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ยังคงอยู่ที่ระดับ +0.4%m/m หรือคิดเป็น +6.0%y/y และ +5.5%y/y ตามลำดับ ซึ่งเราประเมินว่า หากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เป็นไปตามที่ตลาดคาดหรือน้อยกว่าคาด เฟดก็อาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% แต่การขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนแตะระดับ 5.50% ยังมีความเป็นไปได้สูง แต่ถ้าหาก อัตราเงินเฟ้อ CPI เร่งตัวขึ้นหรืออกมาสูงกว่าคาด เช่น +0.5%m/m หรือมากกว่านั้น ก็อาจเพิ่มโอกาสที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ และในกรณีดังกล่าว เราคาดว่า มีโอกาสที่จะเห็นเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ บ้าง เพื่อสะท้อนการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาด (Repricing) ต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และนอกเหนือจากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Sentiment) โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งหากยอดค้าปลีก และความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงสะท้อนแนวโน้มการบริโภคของสหรัฐฯ ที่สดใส ก็อาจทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างมั่นใจในภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดได้

? ฝั่งยุโรป – ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาใกล้ชิด คือ ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเราคาดว่า ECB จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ต่อเนื่อง +0.50% สู่ระดับ 3.00% ได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตา คาดการณ์เศรษฐกิจใหม่ของ ECB รวมถึง ถ้อยแถลงของประธาน ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของ ECB ซี่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า ECB ยังมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ +0.50% ในการประชุมครั้งถัดไป ก่อนที่จะทยอยปรับขึ้นครั้งละ +0.25% จนแตะระดับ 4.00% หลังอัตราเงินเฟ้อยูโรโซนยังอยู่ในระดับสูงเกินกว่าเป้าหมาย 2% ไปมากและเศรษฐกิจยูโรโซนก็ฟื้นตัวได้ดี

? ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ โดยตลาดมองว่า เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หลังการเปิดประเทศ สะท้อนผ่านยอดค้าปลีก (Retail Sales) ที่จะขยายตัวกว่า +3.4%y/y และยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ก็จะขยายตัวราว +2.6%y/y สอดคล้องกับรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจะช่วยหนุนให้ ยอดการส่งออก (Exports) ของญี่ปุ่น เดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นราว +7%y/y ขณะที่ยอดการนำเข้า (Imports) จะขยายตัวกว่า +12%y/y ตามความต้องการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ในส่วนผลการประชุมของธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) เราประเมินว่า BI จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.75% ต่อ หลัง BI อาจมองว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องและการขึ้นดอกเบี้ยก่อนหน้าอาจเพียงพอที่จะคุมปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ค่าเงินรูเปียะห์ (IDR) ก็เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า มีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways โดยมีโอกาสแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับแรกแถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ หากราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ว่าจะชะลอการขายสินทรัพย์ไทย หรือกลับมาเทขายสินทรัพย์เสี่ยง อย่าง หุ้นไทย มากขึ้น และควรระวังเงินบาทอาจผันผวนสูงในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันอังคารนี้

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideways หรืออ่อนค่าลงได้บ้าง หลังทองคำและสินทรัพย์ปลอดภัยอื่น อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อาจได้รับความสนใจจากผู้เล่นในตลาด มากกว่าเงินดอลลาร์ในช่วงตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากความกังวลปัญหาธนาคาร SVB ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างปรับลดโอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์อาจไม่ได้อ่อนค่าลงชัดเจนและต้องระวังการกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วของเงินดอลลาร์ หากอัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาสูงกว่าคาด

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.25-35.25 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.70 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 มี.ค. 2566 เวลา : 10:39:25

03-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 3, 2025, 12:51 am