ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (28 มี.ค.66) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 34.40 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (28 มี.ค.66) ที่ระดับ 34.40 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.44 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ จากรายงานข่าวที่ทางธนาคาร First Citizens ได้ตกลงเข้าซื้อกิจการของธนาคาร SVB ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มธนาคารต่างปรับตัวสูงขึ้น (BofA +5.0%, JPM +2.9%) ในขณะที่ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เริ่มเผชิญแรงขายทำกำไรบ้าง (Alphabet -2.8%, Microsoft -1.5%) โดยอาจมองได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 3.52% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดเพียง +0.16% ขณะที่ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลงกว่า -0.47%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +1.05% หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร (BNP +2.6%, Santander +2.2%) หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาเสถียรภาพระบบธนาคารฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ (ซึ่งล่าสุดมีข่าวธนาคาร First Citizens ตกลงเข้าซื้อกิจการธนาคาร SVB) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้น Healthcare โดยราคาหุ้น Novartis +7.7% จากรายงานข่าวว่ายารักษามะเร็งเต้านมของบริษัทให้ผลการรักษาที่ดีได้

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 102.7 จุด หลังผู้เล่นในตลาดอาจทยอยลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ลงบ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด อย่างไรก็ดี ควรระวังว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากตลาดเริ่มเชื่อว่าเฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ยลง (ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องดีกว่าคาด) หรือตลาดกังวลปัญหาระบบธนาคารฝั่งยุโรปมากกว่าฝั่งสหรัฐฯ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นได้บ้างตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ สู่ระดับ 1,977 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศในช่วงนี้ โดยนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ยอดการส่งออก (Exports) เดือนกุมภาพันธ์ จะยังคงหดตัว -7%y/y สอดคล้องกับภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ยอดการนำเข้า (Imports) จะขยายตัว +2%y/y ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความต้องการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวได้ดี ทำให้ดุลการค้าอาจขาดดุลเกือบ -2 พันล้านดอลลาร์ได้

ส่วนในฝั่งยุโรป อาจมีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจไม่มาก ทว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเฉพาะผู้ว่า BOE และ ประธาน ECB เพื่อประเมินแนวโน้มทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักทั้งสอง ว่าจะยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้หรือไม่ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษและยุโรปอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่าเป้าหมายไปมาก แต่เศรษฐกิจก็เผชิญความท้าทายมากขึ้น จากปัญหาเสถียรภาพระบบธนาคารที่เกิดขึ้น

และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board ซึ่งตลาดประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนมีนาคม อาจย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 101 จุด จากระดับ 102.9 จุด ในเดือนก่อนหน้า ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากปัญหาเสถียรภาพของระบบธนาคารที่เกิดขึ้น

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ เรามองว่า ค่าเงินบาทมักเคลื่อนไหวสอดคล้องกับทิศทางของราคาทองคำมากกว่าเงินดอลลาร์ (เงินบาทแข็งค่าขึ้น ในช่วงที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้น หรือ เงินบาทอ่อนค่าลง ในเวลาที่ราคาทองคำปรับตัวลดลง) ดังจะเห็นได้จากการเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงของเงินบาทในวันก่อนหน้า ซึ่งอ่อนค่ามากกว่าที่เราคาด หลังจากที่ราคาทองคำปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่เงินดอลลาร์ไม่ได้แข็งค่าขึ้นชัดเจนแต่อย่างใด

ส่วนในวันนี้ เรามองว่า ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ใกล้เส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน (แถวระดับ 34.35 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีโอกาสได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าได้จากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เริ่มกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทย โดยล่าสุด นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อหุ้นไทยอีกครั้ง นอกจากนี้ เราเริ่มเห็นแรงซื้อบอนด์ระยะสั้นจากนักลงทุนต่างชาติ (ซื้อสุทธิบอนด์ระยะสั้นมากกว่า 5 พันล้านบาท ในช่วง 3 วันทำการที่ผ่านมา) ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นการทยอยซื้อบอนด์ระยะสั้นในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลง เพื่อเพิ่มสถานะ Long THB (มองว่าเงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น)

อย่างไรก็ดี ในระหว่างวัน ควรระวังเงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลาร์ และเสี่ยงที่เงินบาทจะอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าว หากรายงานข้อมูลยอดการส่งออก (Exports) และดุลการค้า (Trade Balance) ออกมาแย่กว่าคาด หรือ ดุลการค้าขาดดุลสูงกว่าคาดไปมาก นอกจากนี้ สกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ก็มีโอกาสผันผวนไปตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเรามองว่า เงินยูโร และเงินปอนด์อังกฤษอาจย่อตัว อ่อนค่าลงได้ หากบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE และ ECB ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง หรือแสดงความกังวลต่อปัญหาเสถียรภาพระบบธนาคารยุโรปที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้น และในช่วงราว 21.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ หากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ปรับตัวสูงขึ้นและออกมาดีกว่าคาด ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่โดยรวมยังคงสดใส อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับเพิ่มโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือ คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเกินกว่า 5.00% ได้นาน ทั้งนี้ หากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น พร้อมกับการย่อตัวลงของราคาทองคำ เงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าลงได้พอสมควร

ในช่วงนี้ เราคงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.50 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 มี.ค. 2566 เวลา : 10:18:40

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 4:05 am