ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้ (11 เม.ย.66) ที่ระดับ 34.36 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.32 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.10% กดดันโดยแรงขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ (Alphabet -1.8%, Apple -1.6%) ท่ามกลางความกังวลของผู้เล่นในตลาดว่า เฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ +0.25% อีกครั้ง (ตลาดให้โอกาส 72% จาก CME FedWatch Tool) หลังข้อมูลการจ้างงานล่าสุดยังคงออกมาดีกว่าคาด ทว่าแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวของเฟดก็อาจเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ได้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนักและต่างรอจับตารายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI ที่จะรายงานในวันพุธนี้ รวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยเฉพาะกลุ่มการเงินในช่วงวันศุกร์ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนต่อไป
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ปรับเพิ่มโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในเดือนพฤษภาคม หลังยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ล่าสุด ออกมาดีกว่าคาด ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับ 3.41% ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นโซนแนวต้านที่สำคัญและหากบอนด์ยีลด์เริ่มกลับมาปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องได้ ก็มีโอกาสที่จะทดสอบโซนแนวต้านถัดไปแถว 3.60% ได้ ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนควรรอจังหวะในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ โดยเฉพาะบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจรอซื้อในช่วงการประชุมเฟดเดือนพฤษภาคมที่เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งสุดท้ายในการประชุมดังกล่าวได้
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่าเฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 102.5 จุด ทั้งนี้ โซน 102.5-103 จุด ก็เป็นโซนแนวต้านสำคัญของเงินดอลลาร์ในช่วงนี้ ทำให้เงินดอลลาร์อาจเคลื่อนไหว sideways ในช่วงก่อนที่ตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ผู้เล่นในตลาดจะไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมาก แต่การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับแถว 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี ราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากความต้องการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ราคาทองคำยังสามารถแกว่งตัวเหนือโซนแนวรับได้จากโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งเรามองว่าโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
สำหรับวันนี้ ความสนใจของผู้เล่นในตลาดอาจอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรป ทั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) และรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของยูโรโซน โดยตลาดประเมินว่า บรรดานักลงทุนและนักวิเคราะห์อาจเริ่มคลายกังวลปัญหาระบบธนาคารยุโรปและเริ่มปรับลดมุมมองเชิงลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนในอีก 6 เดือนข้างหน้า ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนอาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -10 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 0 หมายถึง มุมมองเชิงลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ) อย่างไรก็ดี ยอดค้าปลีกเดือนกุมภาพันธ์ อาจพลิกกลับมาหดตัว -0.8%m/m (หรือคิดเป็น -3.5%y/y) ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูงและต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นตามการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB)
ส่วนในฝั่งไทย เราคาดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งได้แรงหนุนจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการจ้างงานที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในส่วนภาคการบริการ จะช่วยหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนมีนาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53 จุด อย่างไรก็ดี ปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นผู้บริโภคอาจยังคงเป็นภาวะเงินเฟ้อสูง
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทมีจังหวะเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ก่อนหน้าแถว 34.40 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งเรามองว่า ทิศทางของทั้งเงินดอลลาร์และราคาทองคำจะยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงนี้
โดยเราประเมินว่า ในระหว่างวันนี้ ค่าเงินบาทอาจเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงได้บ้างและมีโอกาสทดสอบโซนแนวต้าน 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรปในวันนี้ออกมาแย่กว่าคาด กดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างรอจับตารายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันพุธนี้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่เร่งรีบปรับสถานะถือครอง นอกจากนี้ เราเริ่มเห็นสัญญาณการกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ซึ่งฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็อาจช่วยชะลอแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้เช่นกัน
ทั้งนี้ในเชิงเทคนิคัล เราคงมุมมองเดิม (ตามบทวิเคราะห์แนวโน้มค่าเงินบาทในวันที่ 3 เมษายน) ว่า เงินบาทในช่วงเดือนเมษายนมีโอกาสแกว่งตัว sideways up หรือทยอยอ่อนค่าลงได้บ้าง โดยล่าสุดเงินบาทได้ปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้าน เส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน (รวมถึงทะลุกรอบเทรนด์ขาลงที่เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม) อีกทั้งสัญญาณจาก RSI และ MACD ก็สะท้อนแนวโน้มว่าเงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวอ่อนค่าลงได้ อย่างไรก็ตาม ควรระวังความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงโฟลว์ธุรกรรมในตลาดการเงินไทยเบาบางช่วงก่อนวันหยุดยาว
ในช่วงนี้ เราคงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูงทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.25-34.45 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น