ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (24 เม.ย.66) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 34.39 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (24 เม.ย.66) ที่ระดับ 34.39 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.37 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า โดยในช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมานั้น เงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าใกล้โซน 34.45 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์และโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ก่อนที่จะกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินเคลื่อนไหวผันผวนตามรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนและมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรเตรียมรับมือความผันผวนในตลาดการเงินในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ พร้อมรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ (GDP Q1/2023 และ อัตราเงินเฟ้อ PCE) และ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ บริษัทเทคฯ ใหญ่ของสหรัฐฯ

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

? ฝั่งสหรัฐฯ – เนื่องจากสัปดาห์นี้จะเข้าสู่ช่วง Silent Period ของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ก่อนการประชุมเฟดในเดือนพฤษภาคม (วันที่ 2-3) ทำให้ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ อาทิ Microsoft, Meta, Alphabet และ Amazon เป็นต้น โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ บรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ทำให้การบริโภค โดยเฉพาะในส่วนภาคการบริการยังคงขยายตัวได้ดี ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้อาจโต +2.0% จากไตรมาสก่อนหน้าเมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งก็เป็นการชะลอลงบ้าง ตามแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดและภาวะเงินเฟ้อสูง (เศรษฐกิจโตกว่า +2.6% ในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนหน้า) อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับภาคการบริการและการบริโภคอาจเริ่มชะลอตัวลงมากขึ้นได้ สะท้อนผ่าน ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณชะลอลง ชี้จากยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial & Continuing Jobless Claims) ที่อาจทยอยปรับตัวขึ้น ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board Consumer Confidence) เดือนเมษายน ก็อาจลดลงสู่ระดับ 104 จุด อนึ่ง การชะลอลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ได้ชัดเจนหรือรุนแรงนักในระยะสั้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ PCE โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ก็อาจอยู่ในระดับสูงกว่า 4.5% ทำให้เฟดยังมีความจำเป็นที่ต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ +25bps สู่ระดับ 5.00%-5.25% ในการประชุมเดือนพฤษภาคม

? ฝั่งยุโรป – ตลาดมองว่า เศรษฐกิจยูโรโซนยังมีแนวโน้มขยายตัวราว +1.4%y/y ในไตรมาสแรกของปีนี้ หนุนโดยการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ ในขณะที่ภาคการผลิตนั้นชะลอตัวลงชัดเจน สอดคล้องกับรายงานดัชนี PMI ในช่วงต้นปี ซึ่งภาพเศรษฐกิจยูโรโซนที่ยังคงขยายตัวอยู่และอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เป็นอย่างมาก จะหนุนให้ ECB สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องได้ (ตลาดคาดอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate อาจแตะระดับ 3.75% จากระดับ 3.00% ในปัจจุบัน) และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร/การเงิน และกลุ่ม Healthcare นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB

? ฝั่งเอเชีย – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งแรกของผู้ว่าฯ BOJ ท่านใหม่ (Kazuo Ueda) แม้เราจะคาดว่า BOJ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.10% พร้อมกับคงเป้าหมายบอนด์ยีลด์ 10 ปี ญี่ปุ่น ที่ระดับ 0.00%+/-0.50% แต่ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มคาดหวังว่า BOJ อาจมีการส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ หลังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาพลังงานและอาหารสด (Core-Core CPI) เร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 3.8% ซึ่งต้องจับตาว่า BOJ จะมีการปรับนโยบายการเงิน เช่น ปรับกรอบของบอนด์ยีลด์ 10 ปี หรือ ยกเลิกการทำ Yields Curve Control ในการประชุมครั้งนี้หรือไม่ เพราะหาก BOJ ปรับใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ก็อาจหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) แข็งค่าขึ้นได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมีนาคม

? ฝั่งไทย – ตลาดคาดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอาจกดดันให้ ยอดการส่งออก (Exports) เดือนมีนาคมอาจหดตัวถึง -16%y/y สอดคล้องกับการปรับตัวลงแรงของดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนมีนาคม อนึ่ง ยอดการนำเข้า (Imports) ก็อาจหดตัวราว -5%y/y ตามราคาสินค้าโดยเฉพาะสินค้าพลังงานที่ลดลงต่อเนื่อง ทำให้ดุลการค้าอาจขาดดุลราว -1 พันล้านดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบเดิม โดยปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าอาจมาจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ โฟลว์ธุรกรรมปลายเดือนของผู้นำเข้า และโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ทั้งนี้ ความผันผวนอาจมาจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติซึ่งอาจยังไม่รีบกลับเข้ามาลงทุนในตลาดทุนไทยได้ในระยะสั้น ในเชิงเทคนิคัล ต้องจับตาว่าเงินบาทจะสามารถทรงตัวเหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน (34.30 บาทต่อดอลลาร์) ได้หรือไม่

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสผันผวนสูง ซึ่งหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด หรือ ตลาดปิดรับความเสี่ยงจากรายงานผลประกอบการที่แย่กว่าคาด ก็อาจหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้ ทว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุม BOJ โดยเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อาจแข็งค่าขึ้นได้ ถ้า BOJ มีการปรับนโยบายการเงินเซอร์ไพรส์ตลาด เช่น ยกเลิกการทำ Yields Curve Control หรือ ขยับกรอบเป้าบอนด์ยีลด์ 10 ปี ญี่ปุ่น ให้สูงขึ้น หรือ ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า BOJ อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไป (ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่มองว่า BOJ จะยังไม่ปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดหรือตึงตัวมากขึ้นในการประชุมครั้งนี้)

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.00-34.60 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.25-34.50 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 เม.ย. 2566 เวลา : 09:30:00

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:37 am