ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (9 พ.ค.66) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 33.85 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (9 พ.ค.66) ที่ระดับ 33.85 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.82 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม เพื่อรอประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในวันพุธนี้ก่อน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงรอจับตาความคืบหน้าของการเจรจาขยายเพดานหนี้ (US Debt Ceiling) ซึ่งในสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะมีกำหนดประชุมกับผู้นำ สส จากพรรครีพับลิกัน เพื่อหาทางออกร่วมกันในประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ ใหญ่ ไม่กี่ตัว อาทิ Alphabet +2.1%, Nvidia +1.6% ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.05%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.35% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP +3.3%, Shell +1.9%) หลังราคาน้ำมันดิบได้รีบาวด์และทรงตัวเหนือระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้อีกครั้ง

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงชัดเจน ทว่าการรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ และความกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ก็มีส่วนช่วยหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นใกล้ระดับ 3.50% เข้าใกล้โซนแนวต้านอีกครั้ง ซึ่งเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะที่บอนด์ยีลด์ทยอยปรับตัวสูงขึ้นในการเข้าสะสมการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ทำให้ในระยะสั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยังคงแกว่งตัวใกล้โซนแนวต้านแถว 3.50%-3.65%

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับขึ้นสู่ระดับ 101.5 จุด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ซึ่งหากออกมาสูงกว่าคาด หรืออัตราเงินเฟ้อไม่ได้ชะลอลงชัดเจน ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมามองว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ได้นานกว่าคาด ซึ่งจะช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี เรามองว่า ในเดือนพฤษภาคม ความเสี่ยงการเมืองสหรัฐฯ จากประเด็นการขยายเพดานหนี้อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำจะพยายามปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านเหนือระดับ 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ราคาทองคำยังคงเผชิญแรงขายทำกำไร นอกจากนี้การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีส่วนช่วยกดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ย่อตัวลงต่อเนื่องใกล้โซนแนวรับระดับ 2,025 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เช่นเดียวกันกับในฝั่งยุโรป ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็อาจช่วยให้ผู้เล่นในตลาดประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของ ECB ได้ ซึ่งล่าสุด ตลาดได้คาดว่า ECB อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อจนแตะระดับ 3.75% เป็นอย่างน้อย

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดคาดว่า ยอดการส่งออกของจีนในเดือนเมษายนอาจโตราว +10%y/y ซึ่งอาจไม่ได้สะท้อนความต้องการสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากฐานของยอดการส่งออกในปีก่อนหน้าอยู่ในระดับที่ต่ำ ตามภาวะ Lockdown ของเมืองใหญ่ๆ อย่าง เซี่ยงไฮ้ อย่างไรก็ดี ยอดการนำเข้าอาจหดตัว -0.3%y/y ซึ่งส่วนหนึ่งอาจสะท้อนว่าความต้องการสินค้าในประเทศอาจยังฟื้นตัวได้ไม่ดีมาก

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนไปตามทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมเกี่ยวกับทองคำ โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์และโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวบางส่วน นอกจากนี้ แม้เงินบาทจะมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ยังมีแรงซื้อเงินดอลลาร์จากผู้เล่นบางส่วนในตลาดยังช่วยหนุนให้เงินบาทแกว่งตัวเหนือระดับ 33.80 บาทต่อดอลลาร์ได้บ้าง (โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นการขายทำกำไร Long THB ของผู้เล่นบางส่วน)

ส่วนในวันนี้ เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบเดิมต่อ โดยเราประเมินว่า ผู้เล่นบางส่วนในตลาดอาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าในการทยอยขายทำกำไรสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) นอกจากนี้ ผู้นำเข้าบางส่วนก็อาจรอจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นในการเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ขณะเดียวกัน โฟลว์จ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติก็ยังคงมีอยู่ และจะเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่า ในขณะที่ปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทนั้น อาจมาจากแรงซื้อสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากการที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นและบอนด์ รวมกันมากกว่า 9 พันล้านบาทในวันก่อนหน้า (นอกจากนี้ดัชนี SET ยังส่งสัญญาณพร้อมรีบาวด์ขึ้นในระยะสั้น) ทำให้ เราประเมินว่า โซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ จะยังคงเป็นโซนแนวต้านสำคัญในระยะสั้น ขณะที่โซนแนวรับจะอยู่ในช่วง 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-34.00 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 พ.ค. 2566 เวลา : 10:43:27

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:29 am