ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดเมื่อคืนนี้ (11 พ.ค.66) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,531.33 จุด ลดลง 30.48 จุด หรือ -0.09%,ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,137.64 จุด เพิ่มขึ้น 18.47 จุด หรือ +0.45% และ
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,306.44 จุด เพิ่มขึ้น 126.89 จุด หรือ +1.04% เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐ หลังจากการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ยังไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ หลังเสร็จสิ้นการเจรจาที่ทำเนียบขาวเมื่อวันอังคาร (9 พ.ค.) โดยทั้งสองฝ่ายให้คำมั่นว่าจะกลับมาเจรจาร่วมกันอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 12 พ.ค.
ปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาด หลังจากนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐเตือนว่า สหรัฐอาจเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ภายในวันที่ 1 มิ.ย.หากสภาคองเกรสไม่ลงมติขยายเพดานหนี้ ซึ่งเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่ารัฐบาลสหรัฐจะผิดนัดชำระหนี้ในช่วงปลายเดือนก.ค.
อย่างไรก็ดี ดัชนีดาวโจนส์ลดช่วงลบหลังจากระหว่างวันร่วงลงไปเกือบ 200 จุด ขณะที่ดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 8 เดือนในระหว่างวัน หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค เพิ่มขึ้น 4.9% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.0% และชะลอตัวจากระดับ 5.0% ในเดือนมี.ค.
อเล็กซานดรา วิลสัน-เอลิซอนโด นักวิเคราะห์จากบริษัท Goldman Sachs Asset Management กล่าวว่า ดัชนี CPI ที่ระดับต่ำกว่า 5% บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐเริ่มชะลอตัวลง และเป็นปัจจัยสนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย.
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 86.9% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. และให้น้ำหนักเพียง 13.1% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50%
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือนเม.ย.ของสหรัฐในวันนี้ รวมทั้งข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ราคานำเข้าและส่งออกเดือนเม.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนพ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
ข่าวเด่น