ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (11 พ.ค.66) ที่ระดับ 33.62 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.65 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยปัจจัยกดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเป็นความกังวลการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ (US Debt Ceiling) ที่ยังไม่มีความชัดเจนและยังไม่มีทีท่าว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะสามารถหาทางออกร่วมกับสภาคองเกรสได้ อย่างไรก็ดี รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาดเล็กน้อยและเป็นการชะลอตัวลงต่อเนื่อง ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมั่นใจแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดมากขึ้น โดยมุมมองดังกล่าว ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 3.44% ซึ่งยังได้ส่งผลให้หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.04% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.45%
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.38% กดดันโดยการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ Unilever -1.7%, Nestle -1.6% ท่ามกลางความกังวลว่า หาก ECB และ BOE เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องก็อาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจยุโรปชะลอมากขึ้นได้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Hermes -1.4%, LVMH -0.9%) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงไม่มั่นใจต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจในระยะนี้ต่างออกมาแย่กว่าคาด
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนหนัก โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงเร็วและแรง (ดัชนี DXY ลดลงใกล้ระดับ 101.2 จุด) จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาดและเป็นการชะลอตัวลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็สามารถรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ แม้จะชะลอลง แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้เฟดอาจต้องคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานกว่าคาดได้ ทั้งนี้โดยรวมเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้แกว่งตัวใกล้ระดับ 101.4 จุด (ระดับก่อนรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI จะอยู่ที่ 101.8 จุด) ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) จะสามารถพุ่งขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน 2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แต่ทว่าราคาทองคำก็ยังไม่สามารถผ่านแนวต้านดังกล่าวได้ และเผชิญแรงขายทำกำไร กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงกลับมาสู่ระดับในช่วงก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI แถว 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง
สำหรับวันนี้ ในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยเราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและไม่มีสัญญาณชะลอลงชัดเจน (อัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนเมษายน อาจอยู่ที่ระดับ 10% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI จะอยู่ที่ระดับ 6%) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย +0.25% สู่ระดับ 4.50% นอกจากนี้ เรามองว่า BOE อาจยังคงส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อจนกว่าจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ ซึ่ง BOE จะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด (Data Dependent)
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ แม้ว่ารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในคืนก่อนหน้าจะสะท้อนแนวโน้มการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อ ทว่า ผู้เล่นในตลาดก็จะรอประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อผ่านรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index หรือ PPI) ซึ่งหาก PPI ชะลอตัวลงต่อเนื่องในเดือนเมษายน ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อมั่นในมุมมองแนวโน้มการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่าเฟดจะไม่สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเกินกว่าระดับ 5.25%
นอกเหนือจากรายงานข้อมูลดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก อาทิ เฟด, ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เพื่อประเมินทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักดังกล่าว
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และโฟลว์ขายทำกำไรทองคำได้ช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น จนทดสอบแนวรับในกรอบสัปดาห์แถว 33.50 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ก่อนหน้า ก่อนที่เงินบาทจะอ่อนค่าลงเล็กน้อย ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการย่อตัวลงของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี โมเมนตัมฝั่งแข็งค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ และอาจช่วยหนุนให้เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นได้บ้างในวันนี้
อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจเผชิญแนวรับสำคัญแถว 33.50 บาทต่อดอลลาร์ และอาจยังไม่สามารถแข็งค่าทะลุต่ำกว่าระดับได้ง่ายนัก จนกว่าจะได้ปัจจัยหนุนจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเราประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติต่างรอผลการเลือกตั้ง โดยการกลับมาขายสุทธิหุ้นไทยสองวันที่ผ่านมา ได้สะท้อนมุมมองดังกล่าวและยังสอดคล้องกับผลการศึกษาฟันด์โฟลว์ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 5 ครั้งล่าสุด ที่เราพบว่า นักลงทุนต่างชาติจะระมัดระวังตัวมากขึ้นและอาจปรับลดความเสี่ยงพอร์ตลงบ้าง ก่อนจะรับรู้ผลการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ เรายังคงเห็นแรงซื้อเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้นำเข้าในช่วงโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทอาจทรงตัวเหนือโซนแนวรับดังกล่าวได้บ้าง อีกทั้งแรงขายทำกำไรสถานะ Long THB ของผู้เล่นในตลาดและโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติก็ยังคงมีอยู่ อนึ่งปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทอาจมาจากความกังวลปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ ซึ่งมักจะกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ทำให้เราประเมินว่า แนวต้านสำคัญของเงินบาทในระยะสั้นจะอยู่ในช่วง 34.00 บาทต่อดอลลาร์ (โซน 33.80-33.90 บาทต่อดอลลาร์ ก็เริ่มมีผู้เล่นบางส่วนทยอยขายเงินดอลลาร์บ้าง)
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-33.70 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น